ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

แทบทุกคนในยุคสมัยนี้ล้วนต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อให้มีชีวิตที่ดี จากวันเป็นเดือนจากเดือนสู่ปีจนอาจหลงลืมบางอย่าง นั่นคือ "สมดุลชีวิตระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ

 

 

ผศ.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ผู้สุงอายุมากขึ้น ประชากรวัยแรงงานลดลง กระทบกับการพัฒนาประเทศ ฉะนั้นต้องหาทางสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับการมีครอบครัวที่มีคุณภาพ จึงมีโครงการวิจัยการส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลในการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้จากการสนทนากลุ่มคนหลากหลายอาชีพวัย และเพศในพื้นที่กรุงเทพฯ ผลศึกษาพบว่าคนปัจจุบันเห็นว่าการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญ ขณะที่การมีบุตรไม่ใช่ปัจจัยนำไปสู่การเป็นคู่สมรสที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ไม่ค่อยอยากมีลูก เนื่องจากมีความกังวลต่างๆ นานา จะเลี้ยงลูกได้ดีหรือไม่ ไลฟ์สไตล์ที่ต้องเปลี่ยนไป สังคมไม่ปลอดภัย ตลอดจนความรู้สึกว่าเสียเปรียบว่าไหนจะต้องออกไปทำงานเช่นเดียวกับผู้ชาย รับผิดชอบงานบ้าน ยังต้องเลี้ยงบุตร ซึ่งก็อยากให้ผู้ชายมีบทบาทในบ้านเท่าเทียมกัน

ผศ.มนสิการกล่าวสรุปผลงานวิจัยว่า พบปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างครอบครัวมีหลายระดับ ตั้งแต่มหภาค สังคม ที่ทำงาน และบุคคล ซึ่งหากจะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการมีครอบครัวที่มีคุณภาพ เสนอว่าในภาพใหญ่ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการศึกษา อีกทั้งต้องมีมาตรการส่งเสริม เช่น ขยายวันลาคลอด วันลาหลังคลอด ลาเพื่อดูแลบุตรโดยได้รับเงินเดือนให้มากขึ้น พร้อมมีมาตรการจูงใจทางภาษีให้สถานประกอบการที่ยืดหยุ่นการทำงาน สำหรับพนักงานที่มีลูกอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยให้เลือกเวลาเข้างาน เลือกทำงานสาขาที่ตั้งภูมิลำเนา หรือมีสถานรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน การปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสถานรับเลี้ยงเด็ก ตลอดจนมีกองทุนครอบครัว เพื่อเป็นสวัสดิการคนทำงานที่มีบุตรที่ไม่ได้รับสิทธิหรือคุ้มครองจากกฎหมายใด ให้ได้รับเงินตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด เงินเลี้ยงดู เงินจ้างคนดูแล อาจเริ่มจากความสมัครใจและรัฐสมทบ ซึ่งเบื้องต้นอาจต้องไปศึกษาในรายละเอียด

ด้าน ผศ.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันฯ กล่าวว่า ในแง่ประชาชนคิดว่าสามารถสร้างสมดุลชีวิตให้ดีได้ด้วยการปรับวิถีชีวิตการทำงาน การตัดค่าใช้จ่ายหรือการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องแพง ไม่ต้องตามกระแสจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือย เพื่อมีทรัพยากรมากขึ้นในการเกื้อหนุนครอบครัว หรือการมีเงินให้การศึกษาของลูกมากขึ้น

 

ที่มา : thaihealth