อเล็กซ์ โครป (Alez Korb) นักวิจัยด้านประสาทวิทยา ได้คิดค้นวงล้อแห่งความสุขจากศาสตร์ประสาทวิทยาซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง 4 ข้อ ดังนี้

 

1.ถามตัวเองยามอ่อนแอ

เคยไหม? รู้สึกว่าสมองสั่งการให้ไม่มีความสุข รู้สึกผิด และละอาย แต่เชื่อหรือไม่ ความรู้สึกเหล่านั้นต่างหากที่สั่งให้สมองบังคับร่างกาย ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นในด้านบวกหรือลบก็สั่งการสมองส่วนเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นความรู้สึกที่มีพลังมหาศาลช่วยให้ระบบสมองทำงานได้ดี ส่วนความรู้สึกกังวล ถ้าเป็นระยะสั้นๆ ความกังวลจะทำให้คุณนิ่งและสั่งให้สมองพยายามหาทางแก้ปัญหา รวมถึงลดความกลัวลงไปด้วย แต่ถ้าคุณเป็นกังวล รู้สึกผิด และละอายใจเป็นเวลานาน นักประสาทวิทยาแนะนำให้ตั้งคำถามแก่ตัวเองว่า "อะไรที่ทำให้คุณพึงพอใจ" เพราะความรู้สึกนี้จะทำให้ระบบโดพามีน (สารให้ความสุข) ทำงาน และยังกระตุ้นเซโรโทนิน (สารให้ความสงบ) ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการคิดบวกย่อมส่งผลดีต่ออารมณ์และร่างกาย รวมถึงช่วยให้มีความคิดแง่บวก ซึ่งส่งผลดีต่อคนรอบข้าง

2.นิยามความรู้สึก

ถ้าคุณรู้สึกแย่ หาให้เจอว่ามันคืออะไร ความเศร้า ความวิตก หรือความโกรธ จริงๆ แล้วการนิยามความรู้สึกเป็นเทคนิคเบื้องต้นในการจัดการความรู้สึกของตนเองเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น เมื่อรู้แล้วว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ คือ ความเบื่อหน่าย คุณก็พาตัวเองออกจากสภาวะเดิมๆ ลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองหายจากภาวะนั้น ดีกว่าเหมารวมว่าตัวเองกำลังแย่ กำลังอารมณ์เสีย โดยที่ไม่ถามตัวเองเลยว่าความรู้สึกที่แท้จริงคืออะไรและต้องจัดการกับตัวเองอย่างไรกันแน่

3.ตัดสินใจเสียที

บทสรุปของข้อนี้เป็นตรรกะง่ายๆ ที่คุณเองก็เคยผ่านมาแล้ว นั่นคือ ทุกอย่างจบเมื่อตัดสินใจ นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า การตัดสินใจจะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และสิ่งสำคัญที่สุด ช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาได้ แต่มีคำถามว่า เราควรตัดสินใจอย่างไรถึงจะเรียกว่าดี

นักประสาทวิทยาตอบ "ต้องตัดสินใจแบบดีพอ" (Make a Good Enough Decision) กล่าวคือทุกอย่างมีทั้งด้านดีและไม่ดี ลองชั่งน้ำหนักแล้วหาจุดที่พอดีเพื่อการตัดสินใจที่ดีพอ นอกจากนี้ อเล็กซ์ โครป ยังกล่าวไว้ว่า "พวกเราไม่เพียงเลือกในสิ่งที่ชอบ แต่เรายังต้องชอบในสิ่งที่เลือก"

4.กายสัมผัส

ความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้สมองสั่งการให้มีความสุข ซึ่งวธีที่ง่ายที่สุด คือ การสัมผัส ตามหลักวิทยาศาสตร์สมองจะหลั่งสารออกซิโตซินที่ช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นผ่านการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการจับมือทักทาย จูงมือ หรือโอบกอด ซึ่งมีผลการทดลองให้ภรรยาถูกไฟชอร์ตเล็กน้อยพอให้เกิดความกลัว ส่วนสามีสามารถกุมมือภรรยาขณะถูกไฟชอร์ต ผลปรากฏว่าสามีมีความกลัวน้อยกว่าโดยวัดจากการทำงานของสมอง จึงพิสูจน์ได้ว่าการสัมผัสช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดได้จริง

ส่วนเรื่องกอด นักประสาทวิทยาแนะนำให้กอดยาวๆ เพราะมันจะกระตุ้นการทำงานของสารให้ความสุขในสมอง และมีการวิจัยออกมาแล้วว่าการกอดวันละ 5 ครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 4 อาทิตย์เพิ่มความสุขได้

หากรอบกายไม่มีใครให้กอด นักประสาทวิทยาแนะนำให้ไปนวด เพราะการนวดจะช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินมากขึ้น 30% และทำให้นอนหลับดีขึ้น

วงล้อแห่งความสุขสามารถขับเคลื่อนชีวิตให้มีความสุขแค่ทำตาม 4 ข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามหมายเลข แต่ต้องนำไปประยุกต์กับสถานการณ์ให้ได้ อย่างเช่นตอนนี้คุณรู้สึกเหงา วิธีที่ดีไม่สุดไม่ใช่ส่งข้อความ แต่ต้องไปหาคนที่คุณรักและกอดนานๆ

 

 

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์