ผู้สูงอายุในบ้านที่มีปัญหาสมองเสื่อม มักมีอารมณ์แตกต่างกัน ผู้ดูแลจึงควรศึกษาและหาวิธีการสื่อสารให้เข้าใจ

 

 

โดยทั่วไปผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจะมีปัญหาการรู้คิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีความเข้าใจทักษะการดูแล และการสื่อสารที่ดีกับผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยทั้งในการทำกิจวัตรประจำวัน ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต อารมณ์ และพฤติกรรม ได้อย่างมีคุณภาพ และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับ ผู้ป่วยได้

การสื่อสารที่ดีกับผู้ป่วยสมองเสื่อมควรใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย และแสดงท่าทางที่เหมาะสมอย่างอ่อนโยน เวลาสนทนาควรพูดกับผู้ป่วยโดยอยู่ทางด้านหน้า สบสายตากันอย่างเหมาะสม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาด้านสายตาและการได้ยิน ควรให้ผู้ป่วยใส่แว่นตาและเครื่องช่วยฟังให้เรียบร้อยก่อนเริ่มสนทนา

ระดับเสียงที่พูด ต้องฟังชัดและนุ่มนวล พูดช้าๆ ใช้ศัพท์และประโยคที่เข้าใจง่าย เป็นขั้นตอน ไม่ใช้ประโยคที่ซับซ้อน ให้เวลาผู้ป่วยนึกคิด ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือหลงลืมสิ่งที่พูดไป อาจต้องพูดซ้ำและต้องปรับคำพูดให้เข้าใจง่าย กรณีที่ต้องการให้ผู้ป่วยทำสิ่งใด ให้ใช้ประโยคเชิญชวนแทนประโยคคำสั่ง

ส่วนการแสดงออกนั้น ไม่ว่าจะเป็นสายตา น้ำเสียง ท่าทาง ควรแสดงด้วยท่าทีอ่อนโยน อ่อนน้อม ไม่คุกคาม และเร่งรีบเกินไป หลีกเลี่ยงการโต้เถียง อาจใช้วิธีรับฟังหรือเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น เพื่อลดอารมณ์และการปะทะกัน

เป็นธรรมดาในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม อาจมีความขุ่นข้องใจบ้างเพราะธรรมชาติของโรคนี้มีแต่จะเสื่อมลง อาจช้าหรือเร็ว แต่จะไม่หาย ฉะนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยจะต้องรู้จักผ่อนคลาย ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ

ที่สำคัญหมออยากให้ผู้ดูแลทุกคนมี 4 ข้อดังนี้คือ ความรัก ความเข้าใจ ความอดทน และใจเย็น ซึ่งถือเป็นยาขนานเอกที่จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันในแต่ละวันของผู้ดูแลและผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีคุณค่า