แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนจากสหรัฐอเมริกา เตือนผู้ที่อดนอนมากและบ่อยว่า การอดนอนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นผลเสียมากมายกว่าที่คิดกันอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการนิยามว่า การบังคับให้นักโทษหรือเชลย อดนอนติดต่อกันนานๆ ถือเป็นทารุณกรรมอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่สามารถให้คำจำกัดความที่แน่ชัดได้ว่าคนเรานอนน้อยเพียงใดถึงจะถือได้ว่าอดนอน เนื่องจากแต่ละคนก็ต้องการเวลานอนแตกต่างกันออกไป จึงถือเพียงว่าภาวะอดนอนนั้นหมายถึงภาวะที่คนเรานอนน้อยกว่าระยะเวลาที่ต้องการซึ่งจำเป็นต่อการตื่นและทำให้ร่างกายตื่นตัว

นายแพทย์สตีเฟนฟีนซิลเวอร์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ด้านการนอนหลับ จากสำนักการแพทย์ไอคาห์น ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์เดวิด ดิงเกส อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหน่วยทดลองด้านจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ที่เคยทำวิจัยด้วยการสังเกตการณ์นอนของอาสาสมัครมาเป็นจำนวนมาก ระบุว่า ภาวะอดนอน อาจก่อให้เกิดอาการแปลกๆ หลายอย่างขึ้นกับคนเรา บางอย่างก็เป็นปัญหาเล็กน้อย แต่บางอย่างก็ร้ายแรงถึงชีวิตได้

อาการอย่างแรกสุดคือ สภาวะเบี่ยงเบนทางอารมณ์ นายแพทย์ฟีนซิลเวอร์ ระบุว่า ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะอดนอนในระดับต่ำๆ จะส่งผลกระทบต่อฟังก์ชั่นการเรียนรู้และอารมณ์ของสมอง ผู้ที่อดนอนมักแสดงอารมณ์ทางลบออกมาชัดเจนทางใบหน้า และยังไม่รับรู้ภาวะอารมณ์ทางบวกของผู้อื่นอีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีความอดทนต่อความผิดหวังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก

เมื่ออดนอนมากขึ้น หรือบังคับให้ตัวเองอยู่ในสภาพตื่นตัวต่อเนื่องยาวนานมากเกินไป จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทางแพทย์เรียกว่า "ไมโครสลีป" หรือ "ภาวะหลับใน" ศาสตราจารย์ดิงเกส ระบุว่า จากการศึกษาพบว่าภาวะดังกล่าวจะกินเวลาสูงสุดเพียง 30 วินาที ผู้ที่แสดงอาการนี้ไม่ได้หลับตา แต่มองไม่เห็นอะไรทั้งสิ้นเนื่องจากทั้งตาและสมองอยู่ในสภาพเดียวกับเมื่อตอนเรานอนหลับ ไม่มีกระบวนการประมวลผลข้อมูลใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น ในการตรวจสภาพสมองขณะเกิดหลับในศาสตราจารย์ดิงเกส อธิบายว่า สมองจะเข้าสู่สถานะหลับอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ภาวะหลับในดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากเกิดขึ้นขณะที่บุคคลผู้นั้นกำลังขับรถยนต์หรือควบคุมเครื่องจักรกลต่างๆ

หากอดนอนมากๆจะก่อให้เกิดอาการ "สับสนฉับพลัน" หรือ "เพ้อ" (เดลิเรียม) ได้ ซึ่งนายแพทย์ฟีนซิลเวอร์ ชี้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อสมองไม่รับรู้ข้อเท็จจริงโดยรอบทั้งหมด นอกจากนั้นในกรณีรุนแรงอาจก่อให้เกิดอาการสูญเสียความจำหรืออินซอมเนียได้เช่นกัน

กรณีรุนแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้กับคนที่อดนอนต่อเนื่องกันนานๆหรือเป็นคนอดนอนเรื้อรังก็คือการก่อให้เกิดภาวะหลอนขึ้น นายแพทย์ฟีนซิลเวอร์ยอมรับว่า ตนเองเคยเกิดอาการนี้ขึ้นเมื่อตอนเรียนจบแล้วทำงานแพทย์ใหม่ๆ ต้องอยู่ในภาวะอดนอนต่อเนื่องกันนานหลายเดือน สุดท้ายก็ทำให้เกิดอาการหลอนถึงขนาดรู้สึกว่าฟักทองพูดได้ และพูดบางอย่างกับตนเองขึ้นมา

แม้ว่าหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้ตื่นอยู่ตลอดเวลาทำให้ถึงตายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนทั้งสองเห็นพ้องกันว่า ภาวะอดนอนในคน ไม่น่าจะทำให้เสียชีวิตได้ด้วยตัวของมันเอง แม้จะเคยมีรายงานเมื่อปี 2012 ว่า ชายชาวจีนรายหนึ่งเสียชีวิตหลังไม่นอนต่อเนื่องกันถึง 11 วัน โดยชี้ว่า กรณีดังกล่าวอาจมีเหตุอย่างอื่นเข้ามาประกอบด้วยเช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, เล่นเกม หรืออื่นๆ การอดนอนเพียงลำพังยากที่จะทำให้คนตายได้ เนื่องจากร่างกายมีกลไกที่ทำให้คนที่อดนอนมากๆ ง่วงและหลับในที่สุดนั่นเอง

 

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์