คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่? รับประทานอาหารบางชนิดมากเกินกว่าที่คาดไว้ รับประทานอาหารทั้งที่ไม่รู้สึกหิว กังวลเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารชนิดนั้น รวมทั้งขวนขวายหาทางไปรับประทานอาหารนั้นให้ได้ หากคุณมีอาการเหล่านี้ คุณอาจเสพติดอาหารโดยไม่รู้ตัว!

นักวิทยาศาสตร์พบว่าอาหารที่อร่อยถูกปาก เช่น อาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง อาจทำให้เกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกับการเสพติดยา โดยอาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้สมองส่วนอยาก (Brain’s reward pathway) หลั่งโดปามีน (Dopamine) เมื่อระดับของโดปามีนเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้อยากรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นอีก และอยากรับประทานอาหารโดยที่ไม่ได้รู้สึกหิวเลยก็ตาม ซึ่งการเสพติดอาหารนั้นมีบทบาทสำคัญต่อความอ้วน แต่ผู้ที่มีอาการเสพติดอาหารบางคนอาจจะมีน้ำหนักตัวปกติได้ เนื่องจากร่างกายมีโปรแกรมที่เผาผลาญพลังงานส่วนเกินได้ดีเพื่อชดเชยกับอาหารที่รับประทานมากเกินไป

Gearhardt และคณะได้ศึกษาอาหารหลายชนิดที่ทำให้เสพติดได้ โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน การทดลองส่วนแรกให้ผู้ร่วมทดสอบสังเกตการเสพติดอาหารโดยเรียงลำดับอาหารที่รับประทานมากเกินกว่าที่กำหนด และให้เลือกอาหารที่แตกต่างกัน 2 ชนิด (ระหว่างอาหารขยะกับอาหารเพื่อสุขภาพ) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่าชนิดไหนที่มีความรู้สึกอยากรับประทานซ้ำอีกหลายครั้ง เช่น คุกกี้หรือแอปเปิล แฮมเบอร์เกอร์ชีสหรือน้ำดื่ม การทดลองส่วนที่สองนั้นให้ผู้ร่วมทดสอบให้จัดอันดับอาหารชนิดเดียวกับการทดลองส่วนแรก ว่าอาหารชนิดใดอยากรับประทานมากที่สุดเรียงลำดับไปน้อยที่สุด พบว่าอาหารที่ผู้เข้าร่วมวิจัยอยากรับประทานมากกว่าหรืออยากรับประทานซ้ำหลายรอบคืออาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน เช่น มันฝรั่งทอด เค้ก และพิซซ่า ในขณะที่อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น ถั่วและไข่ หรืออาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น กล้วยและสตรอเบอร์รี่กลับทำให้รู้สึกอยากรับประทานซ้ำน้อยกว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยอยากรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และเกลือ สูงนั้น อาจเนื่องมาจากอาหารเหล่านี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วกว่าไข่หรือถั่ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า

แล้วชีสทำให้เสพติดจริงหรือ? จากการทดลองชีสไม่ได้ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของอาหารที่เสพติด แต่ชีสนั้นถูกพบเป็นองค์ประกอบในอาหารที่ผู้ร่วมวิจัยเสพติดอยู่มาก เช่น ชีสเค้กและแฮมเบอร์เกอร์ชีส นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่าชีสสามารถกระตุ้นสมองส่วนอยากได้เช่นเดียวกับอาหารอื่น ๆ โดยชีสมีสารคาโซมอร์ฟิน (Casomorphin) ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่ได้มาจากการแตกตัวของโปรตีนเคซีนในนม ซึ่งคาโซมอร์ฟินสามารถจับกับตัวรับสัญญาณ (Receptor) ในสมอง จากการทดลองเมื่อฉีดคาโซมอร์ฟินเข้าสมองของสัตว์ทดลอง พบว่าคาโซมอร์ฟินสามารถบรรเทาความเจ็บปวด และทำให้การเรียนรู้ของสัตว์แย่ลงได้ ซึ่งมีฤทธิ์ที่คล้ายกับยาเสพติดแต่มีความรุนแรงน้อยกว่ามอร์ฟีนถึง 20 เท่า ในการทดลองต่อมาได้แยกหนูทดลองไว้ในสองที่ โดยที่หนึ่งให้หนูได้รับมอร์ฟีนและอีกที่ได้รับคาโซมอร์ฟิน พบว่าหนูที่ได้รับมอร์ฟีนจะเกิดอาการเสพติดและใช้เวลามากเพื่ออยู่ในที่นั้น ขณะที่หนูที่ได้รับคาโซมอร์ฟินไม่เกิดการเสพติด ซึ่งยังเป็นผลการทดลองที่ขัดแย้งกันอยู่

จากการศึกษาที่กล่าวมานั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ชีสทำให้เกิดการเสพติดได้จริง แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารที่อาจจะทำให้เกิดการเสพติด เช่น อาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง นอกจากจะนำไปสู่โรคอ้วนแล้วยังนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพต่าง ๆ อีกมากมาย

 

ที่มา :
http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0117959