ยาเม็ดเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด ถูกผลิตออกมาให้มีความสะดวกในการรับประทาน แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีไป เนื่องจาก ผู้ป่วยบางราย เช่น เด็กอาจกินยาเม็ดไม่เป็น พะอืดพะอม หรือผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหารทางจมูก ทำให้ใส่ยาทั้งเม็ดเข้าไปไม่ได้ ซึ่งหากคนดูแลผู้ป่วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บด เม็ดยาให้ละเอียด ละลายใส่น้ำเพื่อหวังจะให้ผู้ป่วยกินยาได้ง่ายขึ้น นั่นเป็นวิธีการที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วย

เภสัชกรปภาวี ศรีสุข งานเภสัชกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า เมื่อรับประทานยาเม็ดเข้าไป ยาจะเดินทางไปยังหลอดอาหารและละลายที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปยังอวัยวะต่างๆ แล้วจึงออกฤทธิ์ หากเป็นยาเม็ดธรรมดาก็จะละลายและถูกดูดซึมไป

การบดเม็ดยาไม่ได้ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยนัก แต่ว่าเม็ดยาที่ผลิตออกมา ไม่ได้มีแค่ยาเม็ดธรรมดาเท่านั้น ยังมียาเม็ดเคลือบชนิดต่างๆ ที่มีจุดประสงค์เคลือบแตกต่างกันออกไป จุดนี้คือ ข้อสำคัญที่ควรคำนึงถึง ก่อนตัดสินใจบดยา

จุดประสงค์ในการเคลือบเม็ดยา ได้แก่ 1. เพื่อควบคุมการปลดปล่อยตัวยา เพราะยาบางชนิดมีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น เป็นเหตุให้ต้องกินยาถี่ๆ ถ้าวันหนึ่งกินยาหลายครั้ง การเอาสารบางอย่างมาเคลือบเม็ดยาไว้เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้น เนื่องจากระดับยาในเลือดสม่ำเสมอ ยาเม็ดชนิดนี้จะมีปริมาณ ยาต่อเม็ดมากกว่ายาเม็ดธรรมดาหลายเท่า

หากบดยาชนิดนี้จะทำให้เม็ดยาเสียการควบคุม ปริมาณยาที่มีก็จะปล่อยออกมาหมด ผู้ป่วยอาจได้รับยาในขนาดที่สูงเกินไป การสังเกตยาดังกล่าวมักมีชื่อลงท้ายด้วยเอ็มอาร์ เอสอาร์ ซีอาร์ เอ็กอาร์ เป็นต้น

2. เพื่อป้องกันกรดในกระเพาะอาหาร ยาเหล่านี้จึงถูกเคลือบเพื่อป้องกันกรดในกระเพาะ และไปถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กได้ หากบดยาเหล่านี้ เมื่อรับประทานเข้าไป ยาจะถูกทำลายตั้งแต่กระเพาะอาหาร และถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ได้แก่ ยาลดกรด เพราะยาบางชนิดมีโอกาสทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร หากสัมผัสกับกระเพาะอาหารโดยตรง ยาประเภทนี้จึงถูกนำมาเคลือบ ซึ่งการบดยาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน

ลองสำรวจตัวเอง คนในครอบครัว ว่าเคยหักหรือบดยาเม็ดตัวใดบ้างหรือไม่ หากมียาตัวใดที่ตรงกับข้อมูลนี้ ขอให้เปลี่ยนเป็นกินยาทั้งเม็ด แต่หากกินยาเม็ดแล้วมีปัญหาจริงๆ ควรแจ้งแพทย์ผู้รักษา เพื่อให้เปลี่ยนรูปแบบยาที่เหมาะสม

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต