ทีมงานวิจัยภายใต้การนำของ นายแพทย์ แบรดลีย์ ปีเตอร์สัน ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาจิตใจ ประจำโรงพยาบาลเด็กแห่งลอสแองเจลิส เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดในวารสาร จามา ไซเคียทรี ระบุว่า มลพิษปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นไอเสียจากรถยนต์, หรือควันจากโรงงาน ตลอดจนควันจากบุหรี่ สามารถสร้างความเสียหายให้กับสมองของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทำให้เนื้อสมองสีขาว (ไวท์ แมทเทอร์) ในสมองเด็กหดเล็กลง สร้างความเสียหายให้กับกระบวนการพัฒนาการของเด็กตั้งแต่วัยทารกจนติดตัวไปตลอดชีวิต

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีอเมริกันเชื้อสายโดมินิกันและแอฟริกันตั้งครรภ์จำนวน 655 คน ซึ่งคลอดบุตรระหว่างปี 1997 ต่อเนื่องจนถึงปี 2006 โดยในช่วงปลายของการตั้งครรภ์ของกลุ่มตัวอย่าง ทางทีมวิจัยได้จัดอุปกรณ์สะพายติดหลังสำหรับใช้วัดค่าปริมาณของสาร "โพลีไซคลิก อะโนมาติก ไฮโดรคาร์บอนด์-พีเอเอช" สารพิษที่อยู่ในอากาศซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารชีวภาพ อาทิ การสันดาปของเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เป็นต้น

หลังจากนั้น ทีมงานของปีเตอร์สัน คัดเลือกเด็ก ๆ 40 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยต่อเนื่องล่าสุด โดยกำหนดเด็ก 20 คนแรกเป็นลูกของแม่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งมีค่าพีเอเอชต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมัธยฐาน ส่วนอีก 20 คนหลังเป็นลูกของแม่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าพีเอเอชสูงกว่าค่ามัธยฐานดังกล่าว เด็กทุกคนอายุ 8 ขวบแล้วในตอนที่เข้ารับการสแกนด้วยเทคโนโลยี เอ็มอาร์ไอ

ผลการสแกนแสดงให้เห็นว่า สารเนื้อสมองสีขาวในส่วนของกะโหลกซีกซ้ายมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปริมาณในสมองเด็กทั่วไป สมองในส่วนดังกล่าวมีหน้าที่ในการควบคุมการเรียนรู้ภาษา, การรับรู้เข้าใจเรื่องต่างๆ, เรื่อยไปจนถึงพฤติกรรมการแสดงออกและขั้นตอนพัฒนาการต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการบางเรื่องตามมา ทีมวิจัยไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะเหตุใดสมองซีกซ้ายจึงได้รับผลกระทบมากกว่า แต่ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเพราะเด็กๆ เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากสารพีเอเอชตั้งแต่เมื่อเริ่มกระบวนการทางชีวเคมีในขั้นตอนแรกสุดของการตั้งครรภ์ ที่น่าจะส่งผลให้สมองของทารกพัฒนาออกมาไม่เท่ากันอยู่เล็กน้อยระหว่างข้างซ้ายกับข้างขวา

ทีมวิจัยพบว่า ยิ่งค่าพีเอเอชที่ผู้เป็นมารดาได้รับสูงขึ้นเท่าใด ปริมาณของเนื้อสารสมองสีขาวยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น พร้อมกันนั้นเด็กรายนั้นก็ยิ่งมีปัญหาเชิงพฤติกรรมและปัญหาด้านพัฒนาการมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทีมวิจัยพบด้วยว่าจากการตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างเมื่ออายุ 5 ขวบ แสดงให้เห็นด้วยว่ามลพิษในอากาศไม่เพียงส่งผลต่อสมองของเด็กตั้งแต่ก่อนคลอดเท่านั้น หลังคลอดแล้ว เด็กๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมมีมลพิษในอากาศสูงก็ยิ่งมีสารสีขาวลดน้อยลงไปอีก และมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมและพัฒนาการมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต