การดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าของผู้สูงอายุ ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความมีชีวิตชีวา การเห็นคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง  ยิ่งทุกวันนี้มีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น มีการดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น  ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวมากกว่าเดิม  ส่งผลให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากสังคมวัยเยาว์สู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" ฉะนั้น ในเมื่อทุกวันนี้จะมีคนสูงอายุมากขึ้น จึงไม่ควรปล่อยให้วันเวลาล่วงผ่านเป็นเพียงการเพิ่มความชราให้แก่ชีวิต แต่ควรเพิ่มความงดงามและคุณค่าให้แก่ชีวิตทุกขณะเมื่อวันเวลาล่วงผ่านไปด้วย โดยเรามี 4 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขในผู้สูงวัยมา บอกกัน

 

"รู้" คุณค่าของการมีอายุยืนยาว

ผู้สูงอายุหลายคนอาจจะรู้ว่าตนเองเป็นภาระลูกหลานหรือคนรอบข้าง จึงอยากจะให้ปรับทัศนคติเสียใหม่ โดยการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีชีวิตยืนยาวได้จากบุคคลอื่น วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ และประสบการณ์ตรงของตนเอง เป็นต้น ประโยชน์ ของการมีชีวิตยืนยาวซึ่งผู้สูงอายุจะได้เรียนรู้ มีตัวอย่าง เช่น การมีเวลามากขึ้นที่จะเลือกทำ กิจกรรมต่างๆ ได้ตามความสนใจและความต้องการ การมีโอกาสใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งปลอดโปร่งจากพันธนาการ และภารกิจ จำเป็นต่างๆ ซึ่งตนได้แบกรับภาระมาเนิ่นนาน  การมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชน และสังคมได้มากขึ้น และยาวนานขึ้น

"รับ" มือกับการเผชิญปัญหา

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ผ่านชีวิตมามาก และมีประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งประสบการณ์การสูญเสีย ฉะนั้น การสูญเสียก็เป็นภาวะที่ผู้สูงอายุทุกท่านไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือการสูญเสียอย่างเฉียบพลันโดยไม่คาดคิด ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับภาวะสูญเสีย ผู้สูงอายุควรดูแลตนเองเพื่อผ่อนคลาย ที่สำคัญควรจะเริ่มจากการตั้งสติ ทำความเข้าใจว่าภาวะสูญเสียเป็นวิกฤติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เป็นส่วนหนึ่งในวงจรของชีวิตมนุษย์    หันมาให้ความสนใจกับสุขภาพร่างกาย การรับประทานอาหาร การนอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามอัตภาพอย่างสม่ำเสมอ   นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังควรให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อม พยายามพูดคุยหรือมีกิจกรรมร่วมกับบุตรหลาน แทนการเก็บตัวอยู่กับตัวเอง และอาจออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญที่วัด ร่วมงานประเพณีตามเทศกาลสำคัญๆ เป็นต้น

"ปรับ" วิถีการดำเนินชีวิตให้มีความสุข

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุบางคนรับไม่ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น บางคนคับข้องใจในตนเอง บางคนมีความขัดแย้งกับลูกหลานหรือคนใกล้ชิด จึงเป็นที่มาของความเครียด อาการซึมเศร้าและการไม่มีความสุข การที่ผู้สูงอายุจะมีความสุขได้นั้น สิ่งแรกที่ผู้สูงอายุจะต้องทำ คือ การปรับตัวทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด อารมณ์ และสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง โดยเริ่มจากการปรับใจของตนเองให้ได้ ด้วยการเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งของตนเองและสิ่งใหม่ๆ ในสังคม และให้คิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนอื่นได้อย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ตลอดจนยอมรับความช่วยเหลือและการดูแลของลูกหลานเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น จึงจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

"เข้าใจ" การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

การดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย เป็นวิถีชีวิตที่จะพาไปสู่ความสุข ด้วยการทำตัวตามสบาย ไม่ผูกมัดตนเองด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย กินง่าย อยู่ง่าย ดำรงชีวิตอยู่บนความพอเพียง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการประหยัดจนอึดอัดหรือรัดตัวจนเกินไป แต่ให้ดำเนินชีวิตอยู่บนทางสายกลาง ใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามแต่สถานภาพของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ ไม่ทำให้ตนเองหรือคนอื่นเดือดร้อน ไม่ทำอะไรเกินตัวหรือเกินฐานะที่ตนเองมี และหาความสุขจากสิ่งใกล้ตัว ที่มีอยู่ หรือเป็นอยู่ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข

 

ที่มา : หนังสิอพิมพ์มติชน

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต