องค์การเภสัชกรรม เผยการแพ้ยาแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ แพ้ยาชนิดที่เกิดขึ้นทันทีทันใด พบน้อย แต่มีอาการรุนแรงถึงชีวิต และอาการแพ้แบบอื่นๆ ซึ่งอาการไม่รุนแรงเท่าชนิดแรก

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า การแพ้ยาแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ การแพ้ยาชนิดที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ได้แก่ แบบแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) พบน้อย แต่มีอาการรุนแรงถึงชีวิต และอาการแพ้แบบอื่นๆ ซึ่งอาการไม่รุนแรงเท่าชนิดแรก อาจมีผื่นคันและบวม ตัวอย่างเช่น มอร์ฟีน โคเดอีน อาจพบอาการไข้ที่เรียก ฟีเวอร์ ซิคเนสส์ "Fever Sickness" ในส่วนของการปฏิบัติเมื่อเกิดการแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยาไว้ก่อน

ในกรณีที่มีอาการแพ้เพียงเล็กน้อย เช่น ผื่นคัน คัดจมูก หากหยุด ให้ยา อาการต่างๆ จะค่อยๆลดลง และหมดไปใน 2-3 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการผื่นคันมาก อาจให้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ได้ แต่หากมีอาการแพ้รุนแรงมากและเกิดทันทีทันใด ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ในรายที่ได้รับยามาใหม่ๆ การดูดซึมยังไม่หมด อาจทำให้อาเจียน หรือให้กินผงถ่าน (Activated Charcoal) ช่วยดูดซับยาเพื่อลดการดูดซึมของยา

ทางที่ดีที่สุดคือ พยายามป้องกันมิให้เกิดอาการแพ้ยา ขึ้นมา เพราะถ้าอาการแพ้เกิดรุนแรงมาก อาจจะแก้ไขไม่ทันการณ์ โดยคนไข้ที่เคยแพ้ยา ชนิดนั้นๆ มาแล้ว ก็ไม่ควรจะใช้ยาชนิดนั้นอีก รวมทั้งยาในกลุ่มเดียวกัน และยาที่มีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกันด้วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรจดบันทึกชื่อยาลงในสมุดประจำตัวผู้ป่วย และควรพกบัตรแพ้ยา เพื่อแสดงทุกครั้งที่ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์หรือ ซื้อยาจากร้านขายยา สิ่งที่สำคัญที่สุด ควรพบแพทย์หรือขอคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกร ในร้านขายยาจะดีที่สุด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต