ผ่านไป 2 ข้อ แล้ว มาดูกันว่า การดูแลสุขภาพดี ยังมีอะไรอีกบ้าง

          3. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน เนื่องจากโรคอ้วนนำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูงเบาหวาน หลอดเลือดตีบ โรคกระดูกและไขข้อ ฯลฯการควบคุมน้ำหนักตัวที่สำคัญคือ ลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวานและของมันจัด กินผักผลไม้ที่ไม่หวานให้เพิ่มขึ้น ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งน้ำหนักตัวของคนเรา ควรมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 19-23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

          ความสำคัญของการรู้ค่านี้เพื่อประเมินหาไขมันส่วนเกินในร่างกาย จะได้รู้ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคและหาแนวทางป้องกัน โดยคิดคำนวณจากน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้งหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง

          ดัชนีมวลกาย =  น้ำหนักตัว

          ส่วนสูง (ม) 2

          4. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด อันนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บทั้งต่อตนเองและครอบครัว5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น  เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นและอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 มีการใช้ยาหลายขนานร่วมกันเนื่องจากมีความซับซ้อนของโรคหลายชนิด และที่ร้ายสุดคือซื้อยากินเองโดยไม่พบแพทย์

          6. ตรวจสุขภาพประจำปี หลายคนมักเข้าใจผิดว่าถ้าแข็งแรงดีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพเพราะไม่น่าจะมีโรค อะไร แต่หารู้ไม่ว่าโรคบางโรคอาจไม่แสดงอาการ ถ้าไม่ตรวจจะไม่รู้ เช่น  ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง โลหิตจาง หรือโรคมะเร็งในระยะแรกๆ ซึ่งหากตรวจพบ ผลการรักษาจะดีมากบางโรครักษาหายขาดเลยก็มี เช่น มะเร็งปากมดลูกนอกจากนี้ผู้ที่รับการรักษาโรคเป็นประจำก็สมควรได้รับการตรวจสุขภาพเช่นกัน ความเข้าใจผิดอีกอย่างคือ เมื่อผลการตรวจออกมาปกติ หลายคนจะไม่ค่อยสนใจดูแลสุขภาพกันต่อ เช่น รู้สึกว่ายังสูบบุหรี่หรือดื่มสุราได้ หรือไม่ออกกำลังกายกินอาหารไม่เหมาะสม  ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา การที่ผลการตรวจว่าปกตินั้นไม่ได้รับประกันว่าท่านมีสุขภาพดี ขอย้ำเรายังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเช่นเดิมครับ

          7. พักผ่อนเต็มที่ด้วยการนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ร่วมกับการพักผ่อนหย่อนใจ คลายความเครียด ด้วยการท่องเที่ยว หรือหางานอดิเรกทำ เป็นต้น

          8. เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการและสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง

          9. ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการหกล้ม อุบัติเหตุหลายอย่างป้องกันได้ โดยเฉพาะการหกล้ม เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย เช่น การมองเห็นลดลง การทรงตัวไม่ดี ร่วมกับการที่อาจมีโรคต่างๆ เกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีโอกาสหกล้มได้ง่ายและยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องนอนในโรงพยาบาลถึงร้อยละ 85 ซึ่งเมื่อหกล้มแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา เช่น กระดูกหัก เลือดออกในกะโหลกศีรษะ หรือบางรายอาจเดินไม่ได้เหมือนเดิม

          10. อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลพิษ ฝึกหายใจลึกๆ เพื่อให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย ที่เล่ามานี้ คุ้มยิ่งกว่าคุ้มถ้าลงมือทำ

          หวังว่าทุกท่านจะมีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรง 

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน โดย ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล รพ.ศิริราช

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต