มีความรู้ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ว่า ข้อเท้าพลิกเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะมือสมัครเล่น เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเท้าจะได้รับบาดเจ็บง่าย หรืออาจเกิดจากการเดินในที่พื้นผิวขรุขระ การบาดเจ็บอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยและจะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วัน ไปจนถึงอาการรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาและคำแนะนำจากแพทย์

          โดยปกติข้อเท้าพลิกส่วนใหญ่เป็นการพลิกเข้าด้านใน ทำให้เอ็นข้อเท้าทางด้านนอกได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทางการแพทย์ได้แบ่งระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 มีการยืดหรือขาดของเอ็นเพียงเล็กน้อย อาจพบเพียงอาการบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ ระดับที่ 2 มีการฉีกขาดของเอ็นเพียงบางส่วน (โดยปกติไม่เกินร้อยละ 50) ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากจนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้ และระดับที่ 3 ถือว่ารุนแรงที่สุด มีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และส่วนใหญ่พบมีความหลวมของข้อ

          การดูแลเบื้องต้น เมื่อได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ลดการใช้งานของข้อที่ได้รับบาดเจ็บ ประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการปวดและบวม โดยใช้น้ำแข็งผสมน้ำประคบจนรู้สึกว่าชาแล้วเอาออก จากนั้นมาพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ ซึ่งบ่งบอกว่าบาดเจ็บรุนแรง เมื่อมาถึงสถานพยาบาล แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย ต่อจากนั้นอาจจะส่งตรวจภาพถ่ายรังสีในกรณีที่สงสัยว่ามีกระดูกหักหรือการบาดเจ็บอื่นร่วมด้วย เนื่องจากการบาดเจ็บของข้อเท้าโดยการพลิกเข้าด้านในอาจทำให้มีกระดูกหักได้ เช่น บริเวณตาตุ่มด้านในและนอก กระดูกฝ่าเท้า รวมไปถึงกระดูกผิวข้อของข้อเท้า

          การรักษาระยะแรกจะมุ่งเน้นเพื่อลดความเจ็บปวดและความบวม ได้แก่ การให้ยกขาสูง ประคบเย็น ให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การพันผ้ายืด และอาจพิจารณาใส่เฝือกกรณีบาดเจ็บรุนแรง ส่วนการรักษาในระยะต่อมาเป็นการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและความรู้สึกของเอ็นรอบข้อเท้า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ โดยทั่วไปใช้เวลา 4-6 สัปดาห์

          ส่วนจะกลับมาใช้งานเหมือนดังเดิมหรือไม่ขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ถ้าบาดเจ็บไม่มากก็สามารถเดินลงน้ำหนักได้หลังจากอาการปวดบวมเริ่มทุเลา

          อาจต้องเสริมความมั่นคงของข้อเท้าด้วยการพันผ้ายืด หรือสวมเครื่องพยุงข้อเท้าช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากอาการปวดบวม ดีขึ้นก็ออกกำลังกายว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานได้ แต่ควรงดกีฬาที่ข้อเท้าต้องบิดหมุน เช่น วิ่ง ในเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์

          ทั้งนี้ การประคบเย็น ให้ใช้น้ำแข็งผสมน้ำใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่งแล้ววางลงบริเวณที่บาดเจ็บ วางไว้จนมีความรู้สึกชา หรือประมาณ 20 นาที จึงเอาออก ทำทุก 2-4 ชั่วโมง เป็นเวลา 2-3 วัน การประคบเย็นเป็นการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนช้าลง เพราะความเย็นจากน้ำแข็งและผ้าเย็นจะไปทำให้เลือดหดตัวไหลเวียนไม่สะดวก ช่วยลดอาการปวดบวมลงได้ ส่วนยาหม่อง ครีมนวด หรือน้ำมันมวย ห้ามใช้ เพราะตัวยาจะทำให้เกิดการกระตุ้นโลหิตให้ไหลเวียน เพิ่มอาการบวมมากขึ้น ทั้งตัวยายังมีฤทธิ์แสบร้อน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณที่พลิกมากขึ้น

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/