สมัยก่อนเวลาตั้งครรภ์ส่วนมากคุณแม่มักจะลุ้นแค่ขอให้ลูกคลอดออกมาสมบูรณ์และแข็งแรงก็พอใจแล้ว ส่วนจะฉลาดหรือไม่ฉลาดค่อยมาลุ้นเอาตอนหลังคลอด ซึ่งอาจจะต้องรอจนลูกโตพอสมควรแล้วจึงคิดว่าทำอย่างไรดีลูกถึงจะฉลาด      

          แต่ปัจจุบันด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่มากขึ้น ทำให้เราสามารถทราบถึงพัฒนาการของสมองลูกน้อยได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ว่าเป็นอย่างไร และจะสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้อย่างไรบ้าง คุณแม่หลายคนใจร้อนอยากจะช่วยกระตุ้นให้สมองของลูกมีการพัฒนาที่ดีโดยเริ่มตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์เลย โดยหวังว่า เมื่อคลอดออกมาลูกจะได้เป็นเด็กฉลาด ไหวพริบดี หรืออารมณ์ดี การที่คนเราจะมีสมองดีหรือมีความเฉลียวฉลาดมีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องหลายประการ

 

          ปัจจัยที่สำคัญมี 3 ประการคือ กรรม พันธุ์ อาหารการกินของแม่ขณะตั้งครรภ์และของลูกภายหลังคลอด และประการสุดท้ายคือ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กทั้งขณะที่อยู่ในท้องและภายหลังคลอด การกระตุ้นพัฒนาการของสมองลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์สามารถทำได้หลายวิธีคือ

          1. ปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่าคุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าเอนดอร์ฟินออกมาผ่านทางสายสะดือไปยังลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมองและอารมณ์ ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ร่าง กายจะหลั่งสารแห่งความเครียด ที่เรียกว่าอะดรีนาลินออกมาผ่านไปยังลูก ผลดังกล่าวจะทำ ให้ลูกคลอดออกมาเป็นเด็ก งอแง เลี้ยงยาก พัฒนาการช้า

          2. ฟังเพลง ระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน การใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น การที่ลูกในครรภ์ได้รับฟังเสียงเพลง คลื่นเสียงจะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินมีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้เมื่อลูกคลอดออกมามีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี

          3. พูดคุยกับลูก การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆจะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ประโยคซ้ำๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย อย่าไปเล่าเรื่องทุกข์ใจ เช่น เป็นหนี้เขาอยู่ หรือส่งแชร์ไม่ ทันให้ลูกฟังนะ เดี๋ยวลูกจะเครียดเสียตั้งแต่อยู่ในท้อง

 

          4. ลูบหน้าท้อง การลูบหน้าท้องจะกระตุ้นระบบประสาท และสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น การลูบท้องควรลูบเป็นวงกลมจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้ครับ

          5. ส่องไฟที่หน้าท้อง ลูกน้อยในครรภ์สามารถกะพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำ ให้เซลล์สมองและเส้นประสาท ส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด

          6. ออกกำลังกาย เวลาคุณแม่ออกกำลังกาย ลูกที่อยู่ในครรภ์ก็จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ผลดังกล่าว  จะกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น

          7. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เนื้อสมองของลูกน้อยในครรภ์มีองค์ประกอบเป็นไขมัน โดยเฉพาะไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 60 กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีความสำคัญต่อพัฒนา การสมองของลูกน้อยในครรภ์ คือกรดไขมันที่มีชื่อว่า ดีเอชเอ ซึ่งมีมากในอาหารพวกปลาทะเลและสาหร่ายทะเล และเออาร์เอ ซึ่งมีมากในอาหารพวกน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำ มันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันข้าวโพด การเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารดังกล่าวให้เพียงพอ จะทำให้ลูกในครรภ์ได้รับวัตถุดิบคุณภาพดีในการสร้างเนื้อสมองและระบบเส้นใยประสาทให้มีคุณภาพดีตามไปด้วย

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย รศ. นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/