ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

อุปกรณ์เทคโนโลยี อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากขึ้น จนทำให้เด็กบางรายมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขาด สมาธิในการเรียน ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน และมีภาวะสมาธิสั้นเทียม

 

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า “การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากเกินไป ส่งผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นเทียมได้ โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการคล้ายๆ กับโรคสมาธิสั้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป เด็กบางคนหมกมุ่นแต่กับเกม เวลาไปเรียนก็จะนึกถึงแต่เรื่องเกม จนขาดสมาธิในการเรียน บางคนถึงขั้นเอาแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนไปเล่นใต้โต๊ะเรียน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจและปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู

เด็กก็จะมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา เช่น วางระเบียบวินัยในการทำกิจวัตรประจำวัน ให้เด็กๆ รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร หรือจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่ให้มีสิ่งเร้าเยอะ เช่น เมื่อกลับถึงบ้านห้ามเปิดโทรทัศน์ทันที เก็บของเล่นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อเด็กๆ จะได้ไม่วอกแวกหรือเล่นของเล่นก่อนทำการบ้าน ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองควรฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อเขาจะได้เชื่อฟัง แต่สำหรับเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังจนถึงขั้นอาละวาดพ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องมีความหนักแน่น ถ้าสิ่งที่ลูกเรียกร้องไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องปล่อยให้เขาอาละวาดไป พอถึงจุดหนึ่งเขาจะเลิกอาละวาดไปเองเมื่อรู้ว่าวิธีการที่ทำไม่ได้ผลในการเรียกร้องความสนใจเหมือนเดิม

พ่อแม่ ผู้ปกครองควรสนใจว่าลูกใช้ประโยชน์หรือเล่นแอพพลิเคชั่นอะไรจากอุปกรณ์เหล่านี้บ้าง และควรมีเทคนิคในการควบคุมดูแลเด็กๆ ในยุคดิจิทัล ดังนี้ 

1.กำหนดเวลาให้ชัดเจน

พ่อแม่ ผู้ปกครองควรตั้งข้อกำหนดเรื่องเวลาในการใช้สื่อเทคโนโลยีให้กับลูกอย่างชัดเจน เพราะจะทำให้เด็กมีระเบียบวินัยในตัวเอง ว่าควรเล่นระยะเวลาเท่าไรจึงจะเหมาะสม เช่น กำหนดให้เล่นได้วันละไม่เกิน 1 ชม. และวันหยุดอาจเพิ่มเป็น 2 ชม. เป็นต้น

2.สอดส่องดูแล

คอยดูว่าสิ่งที่ลูกเล่นอยู่คืออะไร มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนกับวัยของเขา อย่างเกมที่มีความรุนแรง เช่น เกมปล้น ยิง หรือฆ่าฟันกันก็ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเท่าไร ฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องคอยชี้แนะให้กับลูก เพราะเด็กยังตัดสินใจเองได้ไม่มาก และไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร

3.ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้สื่อเทคโนโลยี

เด็กเล็กที่มีอายุไม่ถึง 2 ขวบ พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรให้เขาใช้สื่อเทคโนโลยีเลย เพราะยังไม่มีความจำเป็นสำหรับเด็กในวัยนี้ ให้เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก อย่างการพูดคุยหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการดีกว่า เด็กจะได้มีพัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างกัน เมื่อเขาผ่านพ้นวัยนี้ไป จึงค่อยเปิดโอกาสให้ได้สัมผัสสื่อต่างๆ มากขึ้นตามวัย

4.เล่นได้แต่ไม่ใช่เจ้าของ

พ่อแม่ ผู้ปกครองทั่วไป บางครั้งเมื่อเห็นว่าลูกอยากได้อุปกรณ์เทคโนโลยีก็ซื้อให้ แต่สิ่งที่ตามมาคือลูกจะแสดงความเป็นเจ้าของ มักโกรธและแสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อพ่อแม่บอกให้หยุดเล่น จนทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมการใช้งานสิ่งเหล่านี้ของลูกได้ ฉะนั้นพ่อแม่ยังต้องคงความเป็นเจ้าของ แต่ให้สิทธิลูกๆ ในการเล่นได้บ้าง เพื่อควบคุมเวลาในการเล่นอุปกรณ์เทคโนโลยีของลูกได้

5.เล่นอย่างสมดุล

เด็กสมัยนี้มักจะเล่นแต่แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือเกม จนทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ หรือสังคม และทำให้การเล่นแบบใช้จินตนาการอย่างเด็กรุ่นก่อนๆ ขาดหายไป ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กลดลง ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจัดสรรเวลาให้ลูกอย่างสมดุล โดยให้เขาทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เช่น เล่นกีฬา เต้น ร้องเพลง วาดรูป สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ บ้าง

6.เรียกร้องความสนใจจากเด็กติดเกม

เวลาที่เด็กใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีแล้วไม่สนใจเมื่อพ่อเม่เรียกหรือพูดคุยด้วย พ่อแม่ควรเดินเข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้เขาสบตา หรือถ้ายังไม่สนใจอีกควรเดินไปสะกิดที่ตัวของเด็ก เพื่อให้เขาฟังในสิ่งที่พูด

7.พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี

การที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะเลี้ยงลูกให้ดีได้ในยุคดิจิทัลนั้น เราควรมีวินัยในตัวเองก่อน หากเราใช้สื่อเทคโนโลยีมากเกินไปกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ลูก อีกทั้งยังส่งผลให้เวลาในการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยลงด้วย”

สินีนารถ เองตระกูล คุณแม่เซเลบริตี้ กล่าวว่า เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้และเด็กสมัยนี้ก็เติบโตอยู่ในยุคดิจิทัล จึงต้องเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้ดูและเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีบ้าง

“แต่ต้องรู้จักการจำกัดเวลาและหากิจกรรมอย่างอื่นที่หลากหลายให้เขาทำควบคู่กันไป สำหรับลูกที่สนใจเล่นเกม เราต้องคอยดูว่าเกมนั้นเหมาะกับเด็กอายุเท่าไร โดยส่วนตัวจะเคร่งครัดกับเรื่องนี้มาก ถ้าเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสม จะไม่ให้ลูกๆ เล่นเลย พร้อมกับอธิบายว่าเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะอนุญาตให้เล่นได้ การดูแลลูกในยุคนี้ คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องให้ความรัก ความเอาใจใส่ ปูพื้นฐานที่ดีให้กับลูก และต้องตามให้ทันทั้งลูกและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี”

 

ที่มา : thaihealth