ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

 

“คลื่นความร้อน” (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์อากาศร้อนที่มากกว่าปกติ ความชื้นในทะเลถูกพัดขึ้นฝั่งในขณะที่อากาศร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูง ทำให้เหงื่อไม่ระเหย จึงพาความร้อนออกจากร่างกายไม่ได้ ส่งผลให้รู้สึกร้อนอบอ้าวจนระบบเมตาโบลิซึมในร่างกายล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิตได้

ในต่างประเทศอาจมีการเตือนถึงการเกิดคลื่นความร้อนขนาดหลายพันหรือแม้กระทั่งหลายหมื่นตารางกิโลเมตร มีการแนะนำเกี่ยวกับการรับมือกับภัยธรรมชาติชนิดนี้อย่างเข้มงวด โดยเตือนให้ประชาชนอยู่ในบ้านหรือในตัวอาคารที่มีร่มเงา มีการแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียของน้ำในร่างกาย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก ได้ยินมากขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนไปดูข้อมูลด้านสถิติอุณหภูมิความร้อนในประเทศไทย ปี 2553 ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้น เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนินโญ ทำให้ฤดูร้อนปีนั้นประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 42-43 องศาเซลเซียส จนผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนเตือนว่า ไทยเสี่ยงต่อปรากฏการณ์ “คลื่นความร้อน” สำหรับปีนี้แม้ยังพยากรณ์ไม่ได้ (คลื่นความร้อน) แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้น ความร้อนพุ่งทะลุ 40 องศาเซลเซียส

รูปแบบของคลื่นความร้อน

1.คลื่นความร้อนจะมีความร้อนสูงตั้งแต่ระดับ 32.2 องศาเซลเซียสขึ้นไป

2.มีระยะเวลาของการแผ่หรือกระจายคลื่นนานมากกว่า 48 ชั่วโมงขึ้นไป

3.มีความชื้นสัมพัทธ์ 80% หรือมากกว่า

ภัยที่มาพร้อมคลื่นความร้อน

1.โรคลมแดด (Heat Stroke)

เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส สังเกตอาการเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ปวดศีรษะ ความดันต่ำหน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าได้ง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ในบางรายมีภาวะขาดน้ำ เพ้อ ชัก ไม่รู้ตัว เซลล์ตับตาย หายใจเร็ว ปอดบวม มีการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก

2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion)

เกิดขึ้นเมื่อออกแรงทำงานหนักหรือออกกำลังกายในที่มีอากาศร้อนและชื้น ทำให้ของเหลวในร่างกายสูญเสียไปในรูปของเหงื่อ ของเหลวที่ร่างกายสูญเสีย เป็นสาเหตุให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่สำคัญไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการช็อก

การช่วยเหลือผู้ป่วย

1.ในเบื้องต้น ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ โดยยกเท้าให้สูงทั้งสองข้าง

2.ถอดเสื้อผ้าออก นำผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด

3.รีบนำส่งโรงพยาบาล

ป้องกันความร้อนได้อย่างไร

1.เตรียมร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพและเคยชินกับอากาศร้อน

2.หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-15.00 น.

3.ไม่ลืมที่จะดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร หรือ 4-6 แก้ว/ชั่วโมง

4.สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน บาง เบา และระบายความร้อนได้ดี

5.ทาโลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้าน สำหรับชาวบ้านที่ไม่ทาโลชั่นกันแดด ให้ใช้ร่ม ผ้า หรือสวมหมวกปีกกว้างคลุมศีรษะ ใบหน้าและลำตัว อย่าให้แดดแผดเผา

6.ควรดูแลเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ควรจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือห้องที่ระบายอากาศได้ดี ในเด็กเล็กต้องให้มีระยะพักระหว่างการเล่นทุก 1 ชั่วโมง และให้ดื่มน้ำ 1 แก้วในระหว่างนั้น

7.อย่าปล่อยให้เด็กหรือผู้สูงอายุอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง และควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอ

8.หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรือต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน

9.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

ที่มา : thaihealth