
ที่มา : เว็บไซต์ข่าวสด โดย ฐนิต วินิจจะกูล และรุ่งฉัตร อำนวย (ทีมเมื่อวานป้าทานอะไร?)
“ไม่อยากอาหาร” ปัญหาคลาสสิกที่พบมากในวัยผู้สูงอายุ กับประโยคสั้นๆ “ไม่หิว” หรือเวลากินทีไร ก็ตักกินได้ไม่กี่คำก็บอกว่าอิ่มแล้ว แม้ปัญหาความไม่อยากอาหารจะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ วันนี้เรามีคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาในการ “ไม่อยากอาหาร” ที่เกิดจากการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบกันบ่อยที่สุดกันค่ะ
1.รับประทานอาหารทีละน้อย แต่เน้นความบ่อยขึ้น
ในบางครั้งการเสิร์ฟอาหารในปริมาณจานใหญ่ตามปกติ อาจทำให้ผู้สูงอายุเห็นแล้วไม่อยากรับประทานอาหาร การหันมาใส่จานหรือถ้วยขนาดเล็กหน่อย อาจจะดูเป็นมิตรกับการกินมาขึ้น โดยอาศัยการเพิ่มมื้อว่างเข้าไป แล้วเลือกของว่างที่ให้พลังงานและมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งน่าจะชดเชยพลังงานที่ลดลงจากมื้อหลักได้ค่ะ
2.พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนหรือขณะรับประทานอาหาร
การดื่มน้ำจะทำให้พื้นที่ในกระเพาะอาหารเต็มได้เร็วขึ้นทำให้ความอยากอาหารลดลงไปด้วยแนะนำให้ดื่มน้ำหลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้วจะดีกว่าค่ะ
3.สังเกตช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุมีความอยากอาหารมากที่สุด
ผู้สูงอายุบางคนอาจจะรู้สึกอยากอาหารมากที่สุดในช่วงเช้าบางคนอาจจะมีมากที่สุดในช่วงเย็นเราจึงต้องปรับปริมาณอาหารให้เหมาะสมตามความอยากอาหารในแต่ละช่วงวันถ้าช่วงเช้ารู้สึกว่ารับประทานอาหารได้มากที่สุด ช่วงเย็นน้อยที่สุด ปริมาณอาหารที่นำเสิร์ฟก็น่าจะเยอะสุดในช่วงเช้าและลดลงมาในช่วงเย็นตามลำดับค่ะ
4.ขยับเขยื้อนร่างกายก่อนรับประทานอาหาร
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารค่ะซึ่งแนะนำให้เดินเล่นก่อนรับประทานอาหารสัก10-15นาที ก็จะช่วยได้เล็กน้อยค่ะ
5.อาหารต้องน่ารับประทาน
บางทีมัวแต่ไปมองสาเหตุอื่น ทั้งๆที่จริงแล้ว สาเหตุที่ไม่อยากอาหารอาจเกิดจากอาหารของเราไม่น่ารับประทานนั่นเอง จึงมีคำแนะนำคือการจัดอาหารที่หลากหลาย ทีสีสันและรูปลักษณ์ที่น่ารับประทาน จะช่วยให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นได้ โดยมื้ออาหารของผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นข้าวต้มกับต้มจับฉ่าย ปลานึ่ง อะไรแบบนี้เสมอไปค่ะ แต่ถึงแม้จะเป็นปลานึ่งก็สามารถทำให้มีลักษณะน่ารับประทานได้ แต่งแต้มสี สลับสับเปลี่ยนเครื่องปรุงรสเพื่อเปลี่ยนรสชาติ อะไรแบบนี้ทำได้เยอะค่ะ
สำหรับในกรณีที่ปรับอาหารแล้ว แต่ผู้สูงอายุยังรับประทานได้น้อย แนะนำให้มาปรึกษานักกำหนดอาหารในโรงพยาบาล เพื่อร่วมกันวางแผน ให้โภชนบำบัดอย่างเหมาะสมค่ะ โดยนักกำหนดอาหารจะแนะนำ“อาหารทางการแพทย์”ที่เป็นอาหารสูตรครบถ้วน ลักษณะคล้ายนมผง เพื่อให้ผู้สูงอายุดื่มเสริมมื้ออาหาร เพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารเพิ่มขึ้นค่ะ แต่อย่างไรก็ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของบุคคลากรทางการแพทย์นะคะ เพราะเงื่อนไขของผู้สูงอายุแต่ละคนแตกต่างกัน และจำเป็นต้องมีการประเมินภาวะโภชนาการก่อน จึงจะสามารถแนะนำได้อย่างเหมาะสมค่ะ
ที่มา : thaihealth