ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย โรคระบบทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
"กรดไหลย้อน" หมายถึง โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน หรืออาจเกิดในขณะที่ยังไม่ได้กินอาหารก็ได้
โรคนี้พบได้ในคนทั่วไป ทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ มักพบได้มากในคนอ้วนหรือสูบบุหรี่ หากการไหลย้อนของกรดมีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร ทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะจะทำให้มีอาการเรื้อรัง กลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
โดยปกติบริเวณรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่คล้ายหูรูดคอยป้องกันการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหาร เมื่อใดที่กล้ามเนื้อหูรูดทำหน้าที่ไม่ดี จะทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยเรียกว่า "เรอเหม็นเปรี้ยว" ถ้าเป็นมากจนเกิดอาการอักเสบของหลอดอาหารหรือมากกว่านั้น เรียกว่า กรดไหลย้อน
อาการทางหลอดอาหารนั้นจะเจ็บแสบที่หน้าอกและลิ้นปี่ มักเกิดหลังขึ้นหลังการทานอาหาร ซึ่งต่างจากอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด ที่มีลักษณะบีบคั้นหนักๆ หรือแน่น หรือมีอะไรขัดๆ หรือปวดตื้อๆ หลังออกกำลังกาย รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ กลืนลำบาก รู้สึกติดๆ ขัดๆ เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในคอ หรือกดกลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบปากหรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในคอหรือหน้าอก เหมือนอาหารไม่ย่อย เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง เป็นต้น
การรักษาคือ เปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้อาการน้อยลง หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการอักเสบเป็นซ้ำ โดยลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะเอว ควรกินอาหารที่มีไขมันต่ำ ไม่ควรนอนทันทีหลังกินอาหาร ควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ไม่ควรซื้อยากินเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ควรกินยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรลดขนาดยาหรือหยุดทานเอง นอกจากแพทย์แนะนำ และควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับขนาดยา
ที่มา : thaihealth