ข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในระยะสุดท้ายประมาณ 2 แสนคน และผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 1 หมื่นคน นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งดูแล เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยถึงขั้นต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตแล้วนั้นนอกจากค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วแล้ว คุณภาพชีวิตยังลดต่ำอย่างน่าเสียดายแทน ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้

อย่างต้นแบบล่าสุด จาก "รพ.คลอง ขลุง" มีการเปิดคลินิกโรคไตเรื้อรังแบบบูรณาการ ใช้ทีมสหวิชาชีพ ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และเภสัชกร ประเมินอาการ ตรวจรักษา ให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวเพื่อยืดระยะเวลาที่ต้องรักษาด้วยการฟอกไต หรือในบางรายสามารถหายได้

นางสุชาณี สุวัฒนารักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผู้จัดการฝ่ายดูแลคนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลคลองขลุง ระบุว่าสิ่งที่ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงหลักๆ คือ เรื่องอาหารที่มีรสเค็มจัด โดยเฉพาะการใช้ผงชูรส ผงปรุงรสทั้งหลาย การรับประทานยารักษาโรคเรื้อรังอื่น ๆ อาทิ เบาหวาน ความดัน ยารักษาโรคปวดข้อ รวมถึงอาหารเสริม สมุนไพร ล้วนมีผลต่อการทำงานของไตทั้งสิ้น

แต่สิ่งเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มจะมีปัญหาการทำงานของไต หากปรับพฤติกรรมการใช้ยาอย่างเหมาะสม ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอมีโอกาสที่จะปรับค่าการทำงานของไตให้อยู่ในระดับปกติได้ หรืออย่างน้อยก็สามารถชะลอความเสื่อม ชะลอภาวะที่ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไปได้ 7 ปี

"เราเจอผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตอายุน้อยที่สุดประมาณ 10 ขวบ แต่มีโรคประจำตัวอื่นอยู่ก่อน ส่วนใหญ่เป็นในผู้สูงอายุกว่า 50% ส่วนคนวัยทำงานตอนนี้เริ่มพบเยอะขึ้น กลุ่มนี้มีสาเหตุ มาจากการ รับประทานอาหารที่มีรสจัด และผสมผงปรุงรสต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นระยะแรก ๆ ที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนค่าการทำงานของไตได้ แต่ก็ไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันมากนัก"

อย่างเรื่องอาหารถือเป็นหัวใจสำคัญ ต้องลด ละ เลิกเลยคือ "ผงชูรส ผงปรุงรสต่างๆ" เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง มีผลต่อการทำงานโดยตรง ส่วน "เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส" ที่ให้ความเค็มนั้นควรลดปริมาณลง แรก ๆ อาจจะรู้สึกว่าไม่อร่อย แต่ใช้เวลาไม่เกินสัปดาห์การรับรสชาติจะดีขึ้น

ปรับการรับประทาน อาหารเสริม สมุนไพร ที่วางขายตามตลาดนัด ที่พบว่าบางอย่างลักลอบผสมสเตียรอยด์และเอ็นเสด ซึ่งจะเกิดการตกค้าง สะสมอยู่ที่ไต ตรงนี้มีปัญหามาก ๆ แก้ยาก ต้องหมั่นให้ความรู้และสอบถาม หากพบผู้ป่วยรับประทานก็อาจจะต้องมีการปรับการให้ยาบางตัว เพื่อลดภาระหนักที่จะตกอยู่กับ "ไต"

ผลไม้บางชนิด อาทิ "มะไฟ" ผักสี ๆ โดยเฉพาะที่กินหัว อาทิ แครอท ฟักทอง เพราะพบว่ามีโปรแทสเซียมมาจากปุ๋ยเคมี ตรงนี้ก็มีผลต่อการทำงานของไตเช่นกัน อย่างไรก็ตามผัก ผลไม้เหล่านี้ยังสามารถรับประทานได้ แต่ไม่ควรรับประทานบ่อย

 

 

ที่มา : thaihealth