สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า แน่นอนว่าจะต้องมีภาวะซึมเศร้า รวมทั้งมีการเบื่อหน่าย คนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ต้องเศร้า ร้องไห้ เสียใจ แต่มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ร้องไห้ แต่มีอาการเซ็ง เบื่อ ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่มีชีวิตชีวา เพื่อนชวนไปไหนก็ไม่อยากไป เบื่อไปหมด ไม่มีความสนุกสนานในใจ

 

อาการของโรคซึมเศร้ามีผลกระทบต่อการฆ่าตัวตาย คือ เมื่อซึมเศร้าแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า จะมีชีวิตไปทำไม ที่พบบ่อยคือ อาการซึมเศร้าร่วมกับโรคเรื้อรังทางด้านร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคอัมพาต ซึ่งทำให้เกิดแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ เพราะเกิดความรู้สึกว่าเป็นภาระกับผู้อื่น

อาการ 

หลักการสังเกตผู้ที่มีอาการ คือ สังเกตว่านิสัยเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ พูดน้อยลง เงียบลงกว่าเดิม ผอมลง ไม่พูดไม่จา ดูซึมๆ ซึ่งช่วงเริ่มแรกที่เป็น อาการอาจสังเกตเห็นได้ยาก แต่เมื่อสะสมมากๆ จะแสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น อารมณ์ต่างๆ จะเหมือนกราฟที่ค่อยๆ ตกลงมา

วิธีการแก้ไข

เราสามารถช่วยแก้ปัญหาขั้นต้นได้ด้วยการฟัง หลักการสำคัญ คือ ฟังให้มาก เพราะส่วนใหญ่พอเขาเริ่มพูด เรายังไม่ทันฟังเลย บางทีก็ให้กำลังใจไปว่าสู้ๆ แต่จริงๆ ต้องฟังเขาก่อนว่า เขาจะพูดจะสื่อสารอะไร ให้เขาได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจ คนเราถ้าได้พูดอะไรออกมา ความเครียดก็จะลดลง

การป้องกัน

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การมีเพื่อน มีคนปรึกษา มีคนพูดคุยกัน เพื่อลดความเครียดในตัวเรา สำคัญที่สุดอยู่ที่มุมมองของปัญหา ถ้ามองให้ดีความกดดันต่างๆ ก็จะลดลง ควรปรับความคิด ปรับอารมณ์ ทำใจให้ผ่อนคลาย อย่าจมกับเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่

เมื่อทราบอาการ สาเหตุ และแนวทางการป้องกันแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะนำไปปฏิบัติต่อสมาชิกภายในครอบครัว เพื่อขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากภาวะซึมเศร้าได้

 

 

ที่มา :  www.thairath.co.th  โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล  

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี