จากสถิติของสถาบันโรคผิวหนัง พบ ว่าโรคสะเก็ดเงิน มีผู้ป่วยมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคผิวหนังที่พบบ่อย และอยู่ใน 3 อันดับแรกของโรคที่มีความรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 32.8

 

 

ทั้งนี้ นพ.จักรพงษ์ ชุณหเสวี อาจารย์แพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง หัวหน้างานพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ (CoE) สะเก็ดเงิน สถาบันโรคผิวหนัง ระบุว่า เนื่องจากตัวโรคจะมีลักษณะเป็นการอักเสบของผิวหนัง ที่แสดงออกมาให้เห็นภายนอกในลักษณะเป็นผื่น ปื้น นูนแดง และปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ดังนั้น นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดทางกายแล้ว ยังเกิดผล กระทบต่อจิตใจ และขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคม

"ผู้ป่วยบางรายมีปัญหาซึมเศร้า มีความเครียดเรื้อรัง ไม่กล้าเข้าสังคม มีผล กระทบต่อการเรียน การทำงาน นำมาสู่ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ติดสุรา สูบบุหรี่ มีความคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น"

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินยังพบโรคร่วมอื่นๆ ได้ เช่น กลุ่มโรคเมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) และกลุ่มโรคคาร์ดิโอวาสคูลาร์ (cardiovascular) ภาวะข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียค่ารักษาพยาบาลเยอะ ทั้งค่ายา ค่านอนโรงพยาบาล ค่าฉายแสง ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล แถมยังขาดรายได้จากการต้องหยุดงาน ตกงาน อีก มีแต่เสียกับเสีย

นพ.จักรพงษ์ บอกว่า ปัจจุบันแม้คนจะมีความรู้เรื่องโรคมากขึ้น แต่ยังขาดความตระหนักในการดูแลตัวเองอยู่มาก ดังนั้นจึงอยากจะมอบความรู้เบาๆ เรื่องการกิน การอยู่ เป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้วิธีดูแล รักษา ป้องกันตัวเองจะได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

1. ห้ามตามใจปาก เลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริก ไขมันสูง ทานอาหารแบบคนรักสุขภาพ เช่น ปลานึ่ง-ต้ม อาจจะเน้นที่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาทู ที่มีน้ำมันปลา เยอะ ๆ งดของทอด ทานผักผลไม้หลากสี และเลือกอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งแต่น้อย หรือที่มักเรียกกันว่า "กินคลีน"

2. งดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย โดยเด็ดขาด

3. นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด และอย่าพยายามปลีกตัวจากสังคม

4. ออกไปสูดอากาศ ให้ผื่นสะเก็ดเงินได้โดนแดดบ้าง โดยขอให้เป็นช่วงแดดอ่อนๆ อย่างตอนเช้าๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ในช่วงเวลาเช้า

5. ออกกำลังกายเบาๆ ควบคุมแคลอรี และลดพุง เพราะความอ้วน หรือไขมันเกินจะทำให้โรครุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อนตามมา

6. อย่าแกะ อย่าเกาผื่นโดยเด็ดขาด แต่ควรทายา ทานยา ฉีดยา ตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ

7. ทานยาหรือทายาควรปรึกษาแพทย์ ก่อนทุกครั้ง เพราะยาบางอย่างอาจทำให้ผื่นเห่อขึ้นมาได้

8. เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการปวดข้อ ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย

9. หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน ต้องเฝ้าระวังบุตรหลาน ถ้ามีผื่นที่ไม่แน่ใจให้รีบมาปรึกษาแพทย์

10. มาตรวจรักษาตามนัด และอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาต่างๆ ยาหม้อ ยาฉีดราคาถูกๆ เข็มละไม่กี่ร้อย ซึ่งจะเป็นคนละตัวกับยาฉีดชีวโมเลกุลที่ผู้เชี่ยวชาญใช้ ดังนั้นอย่าเชื่อเด็ดขาด เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ายานั้นมีส่วนผสมของอะไรบ้าง แต่ส่วนมากมักพบการลักลอบผสมสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นอันตรายกับร่างกาย มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เมื่อหยุดฉีดจะทำให้ผื่นเห่อได้รุนแรง แทนที่จะรักษาให้หายขาดกลับยากขึ้นไปอีก

เอาเป็นว่าถ้าปฏิบัติตาม 10 ข้อคิดนี้ ก็พิชิตสะเก็ดเงินได้ ผื่นก็จะดี สุขภาพจิตก็ดี ผู้ป่วยก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์