ดร.แจ๊ก เอ. ยานอฟสกีจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) สหรัฐอเมริกา ศึกษาผลลัพธ์การออกกำลังกายช่วงสั้นๆ หรือการเคลื่อนไหวอยู่กับที่ ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดียวกับการออกกำลังกายหนักๆ เป็นเวลานานอย่างน้อย 30 นาทีหรือไม่ โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนอายุ 7-11 ขวบ จำนวน 28 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนั่งดูรายการ หรือการ์ตูนทางโทรทัศน์ต่อเนื่องนาน 3 ชั่วโมงโดยไม่ลุกไปไหน ขณะที่อีกกลุ่มลุกขึ้นไปเดินบนลู่วิ่ง 3 นาทีทุกๆ ครึ่งชั่วโมงระหว่างดูทีวี จากนั้นเปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือด และปริมาณฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ปรากฏว่ากลุ่มนักเรียนที่นั่งนิ่งเป็นเวลานาน มีระดับน้ำตาลและอินซูลินสูงกว่าเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง รวมถึงสูงกว่าระดับปกติ

แม้จะไม่ได้ผลเท่ากับการออกกำลังเต็มที่ อย่างการวิ่งระยะไกล ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือเล่นฟุตบอล แต่ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวานในเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่ต้องใช้เวลานานๆ จนเหนื่อยเกินกว่าร่างกายของเด็กๆ จะทนไหว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด