จากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการถูกพิษของแมงกะพรุนกล่อง ที่เกาะพงัน เมื่อเร็วๆ นี้ วันนี้เราจึงนำวิธีการปฐมพยาบาลผู้ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องมาฝาก
แมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) เป็นหนึ่งในสัตว์มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เพราะมีเข็มพิษอยู่ในเซลล์จำนวนล้านๆ เซลล์ มีหนวดที่ยาวมาก และใสจนแทบมองไม่เห็น บางตัวอาจมีความยาวถึง 3 เมตร พิษของแมงกะพรุนกล่อง มีพิษต่อหลายระบบในร่างกายทั้งเลือด เนื้อหนัง หัวใจ ประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังเกร็ง เวียนหัว คลื่นไส้ ปวดหัว กระสับกระส่าย แน่นหน้าอก ส่วนใหญ่ผู้ได้รับพิษมักมีอาการปวดบริเวณแผล หรืออาจปวดไปทั่วร่างกายในบางราย อาจตายหรือจมน้ำก่อนใครจะช่วยทัน พิษของแมงกะพรุนจะทำให้บริเวณที่สัมผัสเป็นเส้นสีแดง คล้ายถูกแส้หรือถูกฟาดอย่างแรง
วิธีการช่วยเหลือและปฐมพยาบาล
1. ผู้ช่วยเหลือต้องแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัยจากแมงกะพรุน
2. นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ หรือ ไปยังบริเวณที่ปลอดภัย
3. ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน
4. ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน
5. เรียกให้คนช่วย และโทร 1669 เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ควรสังเกตประเมินอาการตลอดเวลา
6. หากหมดสติ ไม่หายใจ หรือไม่มีชีพจร ให้ทำการ CPR ทันที (** แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล โดยทั่วไปให้ทำ CPR ตาม guideline C-A-B แต่หากการจมน้ำ สำลักน้ำร่วมด้วยใช้หลัก A-B-C )
7. ล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชูบ้าน ความเข้มข้น 2-10 % นานอย่างน้อย 30 วินาที หากไม่มีให้ใช้น้ำทะเล
8. ใช้ถุงมือหนา หรือแหนบคีบหนวดที่ยังติดอยู่ ห้ามใช้มือหยิบ
9. ให้ใช้วัสดุขอบเรียบ เช่น เปลือกหอย บัตร สันมีด ขูดเอาเมือกที่เหลืออยู่ออก
10. ในกรณีของ แมงกะพรุนกล่อง ให้ใช้น้ำแข็งประคบลดอาการปวด หลังจากที่ล้างด้วยน้ำส้มสายชูแล้ว หรือใช้ผักบุ้งทะเลตำพอกที่แผล
11. นำส่งโรงพยาบาล
ข้อควรระวัง
-ห้ามใช้น้ำจืดล้าง เนื่องจากจะกระตุ้นเข็มพิษให้ทำงานมากยิ่งขึ้น ส่วนการใช้แอมโมเนียล้างจะยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลง
-ห้ามถูหรือขยี้
-หลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด
ที่มา : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
(ข้อมูลจาก ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
ภาพประกอบจาก http://www.livescience.com/25492-box-jellyfish-sting-treatment.html โดย Robert Hartwickเก