การเป็นพ่อแม่ที่ดี เหมือนกับเราเป็นผู้บ่มเมล็ดพืชที่ดีลงในจิตใจของลูก เพื่อให้ลูกเป็นต้นไม้ที่จะเจริญเติบโตและออกดอกผลที่งดงามในอนาคต สิ่งที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไปนี้จะเป็นแนวทางในการเลี้ยงดูลูก และมีหลักข้อควรหลีกเลี่ยงดังต่อไปนี้

 

1. สิ่งที่เราทำมีผลมากกว่าที่เราพูด ข้อนี้เป็นข้อที่มีผลต่อลูกในระดับต้นๆ ลูกจะเรียนรู้ว่าเราปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไรและทำตาม อย่าปฏิบัติแบบขอไปที หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แบบขายผ้าเอาหน้ารอด แต่ควรคำนึงผลที่จะตามมาในอนาคต เหมือนการลงทุนที่หวังผลกำไรในสินค้าที่ลงทุนนั้น

2. อย่าโอ๋ลูกมากเกินไป หรือในที่นี้คืออย่าปล่อยลูกจนเสียคนเพราะรักลูกแบบผิดๆ ใครแตะไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการโอ๋ลูกมากเกินไปหมายถึงการรักลูกมากเกินไป แต่ในที่นี้หมายถึง การปล่อยปะละเลยและการปกป้องลูกแบบผิดๆ

3. มีส่วนร่วมในชีวิตของลูก ใช้เวลาและทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดี คิดวางแผน จัดความสำคัญของงาน เสียสละเวลาส่วนตัวและใช้เวลาทำกิจกรรมที่จำเป็นกับลูก เติมถังอารมณ์ของลูกให้เต็มทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการทำการบ้านให้ลูก การแก้การบ้านให้ลูก เพราะการบ้านเป็นสิ่งที่ลูกควรจะเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก เพื่อครูจะทราบว่าลูกต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง

4. ปรับการเลี้ยงดูเพื่อให้เข้ากับพัฒนาการของลูก รู้ว่าตอนนี้ลูกอยู่ขั้นพัฒนาการขั้นไหน และปรับให้เข้ากับวัยและพฤติกรรม การให้ลูกรู้จักการเป็นตัวของตัวเอง เช่นในกรณีเด็ก 3 ขวบจะปฏิเสธว่าไม่ตลอดเวลาจะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกในการเข้าห้องน้ำ หรือการทำให้ลูกวัย 13 ปีมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ช่างซักช่างถาม ชอบทดลอง คุณพ่อคุณแม่ที่ดีต้องรู้ขั้นพัฒนาการของลูก

5. ตั้งกฎและข้อปฏิบัติประจำบ้าน ถ้าเราไม่สร้างกฎและปล่อยปละละเลยจะทำให้ลูกเรียนรู้และจัดการกับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ยากเมื่อไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยแล้ว ในช่วงหนึ่งของวันเราจะต้องตอบคำถาม 3 ข้อได้ว่า ตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน ใครอยู่กับลูก และลูกกำลังทำอะไร กฎที่เราสอนลูกจะเข้าไปในชีวิตของลูก แต่เราต้องให้เกียรติลูกและไม่เข้าไปก้าวก่ายในชีวิตลูกมากเกินไป เช่น ลูกอยู่ชั้นมัธยมแล้ว ยังทำการบ้านให้ลูก เลี้ยงตัวเลือกให้ลูกและเข้าไปก้าวก่ายชีวิตของลูกมากเกินไป

6. สอนให้ลูกพึ่งพาตัวเอง มีเสรีภาพที่มีขอบเขต พัฒนา ให้ลูกรู้จักการควบคุมตัวเอง และนั่นจะทำให้ลูกรู้สึกมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และประสบผลสำเร็จในชีวิต คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าการให้ลูกเป็นตัวของตัวเองจะทำให้ลูกดื้อและไม่เชื่อฟัง แต่ในความจริงลูกต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการ การควบคุมและไม่ต้องการให้ใครมีควบคุม

7. สม่ำเสมอ ถ้ากฎของเราเป็นไปตามแฟชั่นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่สม่ำเสมอ ลูกก็จะไม่รู้ว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้ อย่าให้มีการต่อรอง หากอำนาจของเราขึ้นอยู่กับความฉลาดไม่ใช่เผด็จการ ลูกจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและไม่พยายามขัดขืน

8. หลีกเลี่ยงการลงวินัยที่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตีลูกไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เด็กที่ได้รับการตี หรือทำร้ายร่างกายมักจะชอบทำร้ายเพื่อน หรือทะเลาะกับคนอื่น อีกทั้งชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงและมีความก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่สามารถมีวิธีการลงวินัยกับลูกมากมายไม่ว่าจะเป็นการให้นั่งนิ่งๆ ซึ่งเป็นการลงโทษที่ได้ผลดีมากกว่า

9. อธิบายถึงกฎและการตัดสินใจ คุณพ่อคุณแม่ที่ดีต้องมีความคาดหวังในข้อประพฤติปฏิบัติ โดยส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่มักพูดมาก ชอบอธิบายมากเกินไปกับลูกที่เป็นเด็กเล็กส่งผลให้ลูกพูดน้อยเกินไปเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้เกิดการไม่สมดุล

10. ให้เกียรติลูกหากเราต้องการให้ลูกให้เกียรติเรา เราต้องให้เกียรติลูกด้วย เราควรแสดงให้ลูกเห็นความอ่อนโยน การเคารพผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย พูดกับลูกอย่างสุภาพ เคารพในความคิดเห็นของซึ่งกันและกัน ใส่ใจเมื่อลูกพูด สอนให้ลูกมีใจเมตตา เพื่อลูกจะปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนที่เราปฏิบัติต่อลูก ความสัมพันธ์ของเราสร้างให้ลูกไปมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

คุณพ่อคุณแม่ที่ดีต้องรักและเข้าใจลูก ไม่เผด็จการ ฟังความคิดเห็น มีความสม่ำเสมอและเป็นตัวอย่างที่ดี ตามคำสุภาษิตที่ว่า “จงสอนเด็กในทางที่เขาควรเดินไปเพื่อเขาจะไม่พรากจากทางนั้น” เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ