"กะปิ" ถือเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ครัวไทยทุกบ้านขาดไม่ได้ ขั้นตอนการผลิตกะปิเหมือนจะไม่ซับซ้อน และใช้เพียงแสงแดดจากดวงอาทิตย์บวกกับกำลังคนคอยหมั่นพลิกเนื้อกะปิให้สัมผัสแดดโดยทั่วถึงกัน แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังได้ยินข่าวเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมในกะปิที่วางขายตามท้องตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการใส่ "สี" ซึ่งกฎหมายควบคุมชัดเจนว่า "ห้ามใส่สี" ในกะปิ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนกิน

 

นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตใน กทม. เพื่อดูว่ากะปิที่เรากินกันอยู่ปลอดภัยจากสีผสมอาหารมากน้อยแค่ไหน โดยผลการวิเคราะห์พบว่า จากตัวอย่างกะปิ 16 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างกะปิที่ใส่สีถึง 5 ตัวอย่าง โดยสีสังเคราะห์ที่พบจากการวิเคราะห์คือ สี Erythrosine E127 หรือ เออร์โธรซีน เป็นสีสังเคราะห์กลุ่มสีแดง

กะปิ ถือเป็นอาหารที่ห้ามมีการใส่สีทุกชนิด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งกำหนดเกณฑ์ตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ หรือมาตรฐานอาหารสากล หรือตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเคยประกาศไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ. 2525) เรื่องการใช้สีผสมอาหาร

การใส่สีลงไปในกะปิก็เพื่อให้กะปิมีสีที่ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แต่สีสังเคราะห์ที่ใส่ลงไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ก็อาจสะสมส่งผลเสียในระยะยาว จึงควรเลือกรับประทานกะปิที่ไม่ใส่สีจะดีที่สุด

คำแนะนำในการเลือกซื้อกะปิ มีดังนี้ 1.สีของกะปิต้องดูเป็นธรรมชาติ เช่น สีชมพู สีแดงออกม่วง 2.เนื้อของ กะปิต้องละเอียด มีความสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน เหนียว ไม่แห้งหรือเปียกเกินไป 3.มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของกะปิ ไม่มีกลิ่นคาวปลา หรือกลิ่นฉุนของสารเคมี  4.รสชาติเค็มพอดี ไม่มีรสขม 5.ไม่มีสิ่งแปลกปลอม และ 6.บรรจุในภาชนะที่สะอาด แห้ง และปิดสนิท

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์