หนังท้องตึงหนังตาหย่อน เป็นอาการที่ยากจะหลีกเลี่ยงหลังจากที่คุณจัดมื้อกลางวันชุดใหญ่มา คุณจะเริ่มมีอาการเฉื่อยชา ตาปรือ คอตก จนยากที่จะทำงานที่อยู่ตรงหน้าให้เสร็จลุล่วงได้ และจะดีไหมหากมีวิธีที่ทำให้คุณไม่ง่วง-หาวอีกต่อไป

 

วันนี้เรามีวิธีกระตุ้นร่างกาย 6 วิธี มานำเสนอ และอยากให้คุณลองปฏิบัติตาม เพราะหนึ่งใน 6 วิธีนี้อาจช่วยเปลี่ยนช่วงเวลาแสนเฉื่อยชาให้เป็นช่วงเวลาที่คุณสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอนพอ : ให้คุณเข้านอนในช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการการพักผ่อนนั่นคือ ช่วง 4 ทุ่ม และต้องนอนอย่างมีคุณภาพโดยหลับให้สนิทต่อเนื่องนาน 6 - 8 ชั่วโมง เพื่อเพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองและชาร์จแบตชีวิตให้เต็มเปี่ยมพร้อมลุยทุกกิจกรรมระหว่างวัน การตื่นเร็วเกินไปหรือนอนน้อยเกินไปจะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าในช่วงบ่ายเร็วขึ้น

กินดี : พยายามหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันมากในมื้อกลางวัน โดยเฉพาะของทอด เนย และชีส เพราะแม้อาหารหวานมันจะช่วยให้คุณรู้สึกมีพลังเพิ่มขึ้น แต่พลังงานเหล่านั้นจะถูกเผาผลาญหมดไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการง่วงล้าได้ ควรรับประทานอาหารที่ย่อยช้าๆ เช่น อาหารที่มีใยอาหารสูง อย่าง ข้าวกล้อง ผัก ถั่วต่างๆ เพราะจะทำให้คุณอิ่มนาน ไม่หิวง่ายในช่วงบ่ายๆ

มีแร่ธาตุ : ควรเลือกทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก โปรตีน ที่อยู่มีในอาหารทะเล ไก่ เนื้อ เต้าหู้ ถั่ว รวมถึงผัก ผลไม้ และอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (หมายถึง อาหารประเภทแป้งที่ร่างกายต้องใช้เวลาในการย่อย อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น) เพราะอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้ จะช่วยเติมเชื้อเพลิงชั้นดีให้แก่ร่างกาย

ปริมาณเพียงพอ : จำกัดปริมาณอาหารมื้อเที่ยง ไม่ทานมากเกินไป การย่อยอาหารมื้อใหญ่จะส่งผลให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า พยายามทานอาหารเที่ยงในปริมาณไม่มากนัก และหาของว่างทานเล่นระหว่างวันทั้งช่วงเช้าและบ่าย เพื่อช่วยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในปริมาณที่สมดุลสม่ำเสมอตลอดวัน

ยืดเส้นยืดสาย : ลองทิ้งช่วงเวลาสัก 15 นาที หลังทานมื้อเที่ยงเสร็จ แล้วเดินเล่นสักหนึ่งรอบตึกก่อนกลับไปยังโต๊ะทำงาน เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ หรือพยายามหาทางออกกำลังกายเบาๆ ในออฟฟิศให้ได้ เช่น การยืดเส้นยืดสายโดยแยกขาออก กางแขนขึ้น-ลง บิดตัว เป็นต้น

หลับเล็ก : ถ้าเป็นไปได้ควรหาเวลางีบหลับสักพัก โดยตั้งนาฬิกาปลุกบนโทรศัพท์มือถือเอาไว้ สัก 15-20 นาที เพื่อให้ร่างกายไม่ฝืนจนเกินไป และปล่อยให้ออกซิเจนได้ไปเลี้ยงสมองชั่วครู่ เพื่อเรียกพลังกลับคืนมา

 

 

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า