จักรยานเป็นพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจุบันหลายหน่วยงานออกมาให้การสนับสนุนการขี่จักรยานทั้งเพื่อการสัญจร การท่องเที่ยว และการออกกำลังกายกันอย่างมาก สำหรับในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้ง 6 พื้นที่ของ อพท. ก็มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานสัมผัสวิถีชีวิตและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยวอย่างแท้จริงในแบบ Slow tourism ทั้งยังเป็นรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ตามแบบ Low Carbon Tourism ด้วย
ดังนั้น การใช้จักรยานเพื่อการเดินท่องเที่ยวไปยังสถานที่หรือจุดท่องเที่ยวต่างๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักท่องเที่ยวจะต้องขี่จักรยานไปบนท้องถนนร่วมกับรถยนต์ จักรยานยนต์และยานพาหนะชนิดอื่นๆ ดังนั้น อพท. จึงมีเทคนิคการขี่จักรยานอย่างปลอดภัยมาฝาก
1.ล้อจักรยานมีพื้นที่หน้าตัดที่สัมผัสกับพื้นถนนน้อยจึงเกิดการลื่นไถลได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการขี่จักรยานไปบน แนวเส้นของสีทาพื้นถนนโดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำขังหรือหลังฝนตก
2.ข้อควรระวังเมื่อขี่จักรยานบนพื้นถนนคอนกรีตที่มักจะมีร่องปูนแนวยาวที่เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นปูน รวมถึง ขอบฝาท่อระบายน้ำและรอยร้าวบนพื้นถนนที่เป็นแนวยาวหรือพื้นถนนต่างระดับเพราะล้อหน้าของจักรยานอาจตกลงไปในร่องทำให้เสียหลักล้มคว่ำและถูกรถที่ตามมาข้างหลังชนซ้ำได้
3.ควรขี่ชิดขอบทางโดยเว้นระยะห่างออกมาประมาณ 1 ช่วงแขน (30-70 เซนติเมตร) เพราะการขี่ชิดขอบทางเท้าจากการที่บันไดของจักรยานไปขูดหรือกระแทกกับขอบทางเท้าทำให้เสียหลักรถล้มได้เช่นกัน
4.จักรยานทั่วๆ ไปจะมีอุปกรณ์ห้ามล้อทั้งล้อหน้าและล้อหลัง สิ่งที่ผู้ขี่มือใหม่ต้องเรียนรู้ คือการบีบเบรกหน้าแรงเกินไปจะทำให้รถหยุดอย่างรวดเร็วจนเกินการหน้าคะมำ หรือเสียหลักลื่นล้มไถลไปข้างหน้า ในขณะการบีบเบรกหลังจะทำให้เกิดอาการท้ายปัดได้ วิธีที่เหมาะสมในการหยุดรถคือพยายามใช้เบรกทั้งสองข้างพร้อมๆกัน โดยกะสัดส่วนของแรงเบรกที่ล้อหน้าและล้อหลัง ไว้ที่ประมาณ 60/40 หรือ 70/30 ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิวถนนและความลาดเทของพื้นถนน แต่คนโบราณมักจะบอกว่า ผู้ขี่มือใหม่ต้องมีประสบการณ์เสียหลักล้มเสียบ้าง 1-2 ครั้ง แล้วคราวต่อๆไปจึงจะสามารถกะแรงเบรกได้เอง แต่ทางแก้ที่ดีกว่า คือ ผู้ขี่ควรมีการทดสอบประสิทธิภาพในการห้ามล้อของจักรยานที่จะใช้เสียก่อนที่จะขี่จักรยานคันนั้นออกถนนใหญ่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต