การมีสุขภาพดีล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และเชื่อว่าทุกคนต่างก็เลือกที่จะบริโภคในสิ่งที่ตนคิดว่ามีผลดีต่อสุขภาพกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการทำงาน

 

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สิ่งที่คุณเลือกแล้วว่ามันต้องดีต่อสุขภาพแน่ๆ มันอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายของคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัวก็ได้ ที่บอกกล่าวแบบนี้ ก็เพราะอาจจะมีบางสิ่งที่คุณทำแล้วควรได้รับประโยชน์ แต่กลับกลายเป็นว่าคุณได้รับโทษแทน ซึ่งจะมีอะไรบ้างที่เรานำมาบอกต่อกันในวันนี้ ไปดูกันเลย

1.ผักสด

ของสดๆ ใครๆ ก็บอกว่าดี โดยเฉพาะผักสด ที่เด็ดใหม่ๆ จากไร่จากสวน ถึงกระนั้นใช่ว่าผักสดจะกินแล้วไม่มีประโยชน์ แต่ทว่ามีผักสดบางชนิดที่อาจเป็นพิษภัยต่อร่างกาย โดยผักที่ไม่ควรกินสดนั้น ได้แก่ พืชในตะกูลผักกาด ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า ผักกาดหัว ผักกาดขาว แครอท บรอคเคอรี ผักเหล่านี้มีสารกอยโตรเจน ที่จะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อย, ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวดิบมีแก๊สค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ทำให้ท้องอืด, ถั่วงอก ในถั่วงอกดิบมีสารไฟเตด ที่จะส่งผลในการขัดขวางการดูดซึมสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย, หน่อไม้และมันสำปะหลัง จะมีสารไซยาไนด์ ในรูปของ ไกลโคไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มึนงง หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดทำงานได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากชอบรับประทานผักสด ควรเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และทานผักหลายๆ ชนิดสลับกันไป ก็จะเป็นประโยชน์ให้แก่ร่างกายของเราได้

2.การปรุงอาหาร

ไม่มีสัตว์โลกไหนปรุงอาหารกินเหมือนมนุษย์ ซึ่งการปรุงอาหารให้สุก ถือเป็นตัวก่อโรคในยุคปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้ เพราะด้วยความที่อาหารไม่มีรสชาติที่จัดจ้าน คนจึงไปเน้นเรื่องของการปรุงอาหารให้สุก ใส่เครื่องปรุง เติมรสชาติ ซึ่งการปรุงที่น่ากลัวที่สุด คือ การใช้น้ำมันและน้ำตาลในปริมาณมาก และยิ่งนำน้ำมันไม่อิ่มตัวไปผ่านความร้อน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงาไปใช้ในการทอดอาหาร เมื่อไอน้ำในอากาศแตกตัวให้ไฮโดรเจนและไปจับกับตำแหน่งที่ไม่อิ่มตัว จนกลายเป็นน้ำมันอิ่มตัวที่เรียกว่าไขมันทรานส์ ซึ่งไขมันตัวนี้เป็นอันตรายจากการทอดที่ทำให้ไขมันในเลือดเราผิดปกติ ฉะนั้นหากต้องการจะทอดอาหารให้ใช้น้ำมันที่อิ่มตัว เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว แทน ส่วนใครอยากจะเลี่ยงอาหารทอด แล้วยังอยากได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนไขมันในเลือด ที่ทำให้เพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และลดโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) ให้ใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัวและรับประทานสด เช่น น้ำมันมะกอก เป็นต้น 

3.การทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 

ด้วยลำไส้เล็กของคนเรายาว 7 เมตร หากทานพืชผักเข้าไปจะย่อย 4 ชั่วโมง ทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะย่อย 3 วัน แน่นอนว่า ถ้าเราทานเนื้อสัตว์เข้าไปมากๆ มันจะส่งผลร้าย คือ มันย่อยช้า จนอาจเน่าคาลำไส้ ซึ่งของเน่าเราคงรู้ฤทธิ์เดชมันดี ไม่ว่าจะมีทั้งความสกปรก การเกิดเชื้อโรคจำนวนมาก เกิดสารพิษ และด้วยความที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับเรา โรคภัยไข้เจ็บ สารก่อมะเร็ง สารพิษ จึงเป็นตัวเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเราทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้าไปก็เท่ากับว่าเราได้รับสารพิษเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ฉะนั้นหากลดการทานเนื้อสัตว์กลุ่มนี้ลง เราก็จะมีความปลอดภัยจากสารพิษดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ทดแทนกันได้ คือ สัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย เป็นต้น เพราะสัตว์น้ำจะให้ไขมันที่ดี ที่เรียกว่าโอเมก้า 3 ช่วยปรับปรุงไขมันในเลือดทำให้ไขมันดีสูงขึ้น ไขมันไม่ดีลดลง และช่วยปรับสมดุลของไขมันในเลือด

4.การนอน

ใครบ้างที่ชอบนอนผิดเวลา ถึงเวลานอนแทนที่จะนอน แต่ดันไปทำอย่างอื่น กินอาหารดึกบ้าง ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง แต่ที่แน่ๆ หลายคนคงยังไม่รู้ว่า หลัง 18.00 น. ไม่ควรรับประทานอาหาร ควรปล่อยให้กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กของเราให้ว่าง เพราะหลังจากช่วงเวลานี้ ต่อมเหนือสมองจะสร้างฮอร์โมน เมลาโตนิน ทำให้รู้สึกง่วง อยากพักผ่อน หากง่วงแล้วหลับเลย โกรทฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองก็จะมารับช่วงต่อ คือ ช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างร่างกายให้สมบูรณ์ ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการนอนที่สุด คือ เวลา 22.00-02.00 เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเราเข้าสู่สภาวะการฟื้นตัว หากละเลยช่วงเวลาที่ดีที่สุดนี้ไป จะส่งผลให้ร่างกายเราเสื่อมโทรมเร็ว เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่ายและฟื้นตัวยาก อย่างไรก็ตามชั่วโมงนอนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของอายุ คนอายุน้อยก็จะนอนเยอะหน่อย คนอายุเยอะก็จะนอนน้อยลง ทั้งนี้หากตื่นมาแล้วรู้สึกว่าสดชื่น นั่นถือว่าเราได้นอนพอแล้ว

5. เครื่องดื่มบำรุงกำลัง

อากาศร้อน คนก็วิ่งหาเครื่องดื่มบำรุงกำลัง หวานๆ เย็นๆ ดื่มแล้วชื่นใจก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิดผลร้ายทั้งสิ้น เพราะความหวานจากน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมสำคัญของเครื่องดื่ม เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม ในหนึ่งขวดมีน้ำตาลอยู่ถึง 12 ช้อนชา โดยองค์การอนามัยโลกให้ค่าบริโภคน้ำตาลของร่างกายที่เหมาะสม คือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวันเท่านั้น แต่ด้วยน้ำตาลแพงและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต้องใช้วัตถุดิบสร้างความหวานในปริมาณมาก จึงหันมาใช้ฟรุกโทสไซรัป (Fructose Syrup) หรืออีกชื่อว่า "น้ำเชื่อมข้าวโพด" ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 6 เท่า ซึ่งเจ้าฟรุกโทสนั้นทำให้คนอิ่มไม่เป็น และยิ่งดื่มเข้าไปมากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะเก็บสะสมฟรุกโทสไว้มากเท่านั้น เนื่องด้วยฟรุกโทสไม่เกิดกลไกการย่อยในลำไส้ปกติ ร่างกายจึงนำไปเก็บไว้ที่ตับ ผลที่ตามมา คือเกิดโรคอ้วน มีไขมันพอกตับ 

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต