ในสังคมปัจจุบัน มีผู้ที่ประสบปัญหาภาวะโรคซึมเศร้า และปัญหาโรคเครียดที่เป็นโรคทางจิตเวชเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที

 

นายสมชาย เตียวกุล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ บอกว่า โรคซึมเศร้าส่วนใหญ่เกิดจากระบบชีววิทยา เช่น ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีกลุ่มเซลล์ประสาทที่ผลิตสารเซลล์สืบประสาทที่ผิดปกติในปริมาณที่มากไปหรือน้อยไป จึงทำให้เกิดอาการภาวะซึมเศร้า อาจรักษาได้ด้วยยา แต่ในขณะเดียวกัน ควรใช้วิธีรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย

จากการวิจัยในระยะหลังยังพบอีกว่า การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาจะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น เร็วขึ้น และสามารถใช้ยาในปริมาณที่น้อยลงได้ ส่วนความเครียดนั้นเกิดจากกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน กระบวนการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลซึ่งแต่ละบุคคลก็มีวิถีชีวิตหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันการสังเกตอาการภาวะโรคซึมเศร้าสังเกตได้ 2 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ จะไม่ร่าเริง ถ้าเกี่ยวข้องกับความเศร้าจะเริ่มมีน้ำตา หน้าเปลี่ยนสี หลบหน้าหลบตา ด้านร่างกาย รับประทานอาหารมากหรือน้อยเกินไปจนผิดสังเกต นอนเป็นเวลานานๆ ทำอะไรช้ากว่าเดิม หลายครั้งที่มีคนมาพูดด้วยจะไม่ตอบคำถาม การเข้าสังคมจะเริ่มแย่ลงดังนั้น ผู้ที่ประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า ควรหาที่พึ่งโดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น กรมสุขภาพจิต ศูนย์บริการเด็กและวัยรุ่น สถาบันการศึกษาที่มีด้านจิตวิทยา นักจิตวิทยาการศึกษา นักจิตวิทยาด้านเทคนิคที่ชำนาญการ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต