เคยไหมฟังเพลงที่ชอบทีไรเกิดอาการอินทุกที เพลงเศร้าก็ร้องไห้ สนุกก็ครึกครื้นเต้นตาม หรือในบางครั้งเสียงเพลงก็ทำให้เรามีกำลังใจ แม้แต่เพิ่มความอดทนในการออกกำลังกายได้ นั่นเพราะดนตรีมีผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพได้นั่นเอง ปัจจุบันจึงเกิดศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า "ดนตรีบำบัด"เพื่อบำบัดโรคทางใจ
ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้วดนตรีบำบัดมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่มีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาว่าสามารถรักษาโรคได้ โดยสมัยก่อนเชื่อกันว่าหากเล่นดนตรีแล้วจะสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ เล่นดนตรีเพื่อเรียกพระเจ้ามารักษาโรค
ต่อมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มีการอ้างอิงจากวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยมีกลุ่มนักดนตรีรวมตัวกันมาเป็นอาสาสมัครช่วยเล่นดนตรีเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายให้แก่เหล่าทหารที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก หลังจากนั้นก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทางโรงพยาบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ จึงได้มีการว่าจ้างนักดนตรีมาเล่นดนตรี โดยมีข้อแม้ว่าต้องได้รับการฝึกจากทางโรงพยาบาลด้วย
ดนตรีบำบัดสามารถบำบัดได้ทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ และปัจจุบันมีการใช้ดนตรีบำบัดในทหารผ่าน ศึก ในกองทหารหรือกองทัพด้วย โดยปัจจุบันดนตรีบำบัดมักใช้ในการบำบัดผู้ป่วยดังนี้
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยสมองเสื่อม, เด็กที่มีปัญหาความบกพร่องเกี่ยวกับการเรียนรู้, คนที่มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บทางสมอง, ผู้ใช้สารเสพติด, ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต, เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ฯลฯ
เมื่อมาเข้ารับการตรวจกับแพทย์ แพทย์จะเช็กประเมินเบื้องต้น เช่น ความชอบทางดนตรี ชอบดนตรีหรือมีประสบการณ์ดีๆ กับดนตรีหรือไม่ หากผู้ป่วยชอบดนตรี แพทย์ก็จะส่งต่อให้ทางนักดนตรีบำบัดอื่นๆ นักดนตรีบำบัดก็จะเช็กอีกครั้งหนึ่งว่าชอบฟังเพลงอะไร และไม่ชอบฟังเพลงอะไร
ความถี่ของการบำบัดจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยปรกติจะมารับการบำบัดสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง แต่หากมีความเครียดสูงอาจต้องมาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่หากเป็นเด็กสมาธิสั้นจะมาสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 30 นาที การบำบัดจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ การฟัง และการเล่น โดยการบำบัดนั้นๆจะแบ่งเป็น 3 อย่าง ภายใน 1 ชั่วโมง ดังนี้
1. การวอร์มอัพสร้างความคุ้นเคย เตรียมความพร้อม ประเมินสถานการณ์ต่างๆ เช่น วันนั้นๆเด็กทำอะไรมาบ้างหรือรู้สึกอะไรมา
2. กิจกรรมหลัก จะเชื่อมโยงกับวอร์มอัพคือ หากวันนี้เด็กทะเลาะกับผู้ปกครองมากิจกรรมหลักจะต้องทำอย่างไรให้ระบายอารมณ์และยอมรับ เข้าใจพ่อแม่และตัวเองมากขึ้น
3. สรุป เมื่อใกล้หมดชั่วโมงจะมาวิเคราะห์ว่าได้อะไรไปบ้าง การใช้ดนตรีบำบัดจะมีอาการดีขึ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคนไข้และระยะเริ่มอาการ หากมาเริ่มบำบัดตั้งแต่แรกๆ อาการจะดีขึ้นได้เร็ว ถ้าคนที่เป็นหนักมาแล้วก็อาจจะต้องเจาะลึกมาก
กว่า ต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ ใช้เวลาให้เขาคุ้นเคยกับสิ่งที่นักบำบัดทำมากขึ้น เวลาคือสิ่งที่เขาต้องการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย สดุดี อภิสุทธิพร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต