จิตแพทย์เผยผู้ใหญ่ก็สมาธิสั้นได้ มีผลกระทบต่อการทำงาน ทำงานอย่างหนึ่งไม่ได้ต่อเนื่อง ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้นานๆ

         พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาสมาธิสั้นมีข้อมูลจำนวนมากและมีกระบวนการคัดกรองเฝ้าระวังเพื่อให้เด็กได้รับการดูแล โดยพบว่าเด็กที่สมาธิสั้นร้อยละ 5 จะมีปัญหาไปถึงวัยผู้ใหญ่ด้วย แต่การเกิดสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่นั้นจะแยกได้ยาก เพราะหากเกิดในเด็กจะมีลักษณะที่ชัดเจน เช่น ซน อยู่เฉยๆ ไม่ได้ บางครั้งไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป ทำให้แยกได้ว่าเด็กมีปัญหาสมาธิสั้น แต่ในผู้ใหญ่การสังเกตสมาธิสั้นทำได้ เช่น ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน แต่ไม่สามารถทำได้ดี หรือทำงานอย่างหนึ่งไม่ได้ต่อเนื่อง ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้นานๆ ถูกรบกวนเพียงเล็กน้อยก็จะไม่สามารถทำงานชิ้นนั้นๆ ได้ เป็นต้น

          พญ.พรรณพิมลกล่าวต่อว่า โรคนี้ได้รับความสนใจจนทำให้เกิดกระบวนการคัดกรองรักษาไม่นานนัก ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาสมาธิสั้นในตอนเด็กๆ ไม่ได้รับการดูแลจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ทำให้กระทบต่องาน ซึ่งหากเป็นในผู้ใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยา หรือพฤติกรรมบำบัด ส่วนการทำสมาธิแบบหลักศาสนาก็ช่วยฝึกได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ การใช้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต อาจทำให้เสียสมาธิได้ ปัจจุบันการให้คำปรึกษาดูแล จากจิตแพทย์สามารถขอรับบริการได้ที่ร.พ.เกือบทุกแห่ง หากสงสัยก็ตรวจเช็กและขอคำปรึกษาได้

 

 

          ที่มา : เว็บไซต์กรมอนามัย

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต