โรคกอร์แฮม ดิซีส ภาวะกระดูกทำลายตัวเอง อาการป่วยเฉียบพลันที่ยังไม่รู้สาเหตุ ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพียงแค่ 200 คนเท่านั้น
นอกจากโรคภัยไข้เจ็บที่เราเคยได้ยินชื่อกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว ก็ยังมีโรคร้ายอีกมากมายที่เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อหรือไม่รู้จัก แถมยังเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก อย่างกรณีของ น้องก็อต ทีทัช เถาถวิล อายุ 22 ปี ที่ป่วยเป็นโรคกอร์แฮม ดิซีส (Gorham stout disease) หรือภาวะกระดูกละลายที่เปลี่ยนชีวิตจากคนที่แข็งแรง ให้กลายเป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลมานานเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหายเป็นปกติในเร็ววัน จนครอบครัวต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมารักษา เรื่องนี้ถูกแชร์กันมากในโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อขอความช่วยเหลือและมีผู้คนมากมายพากันให้กำลังใจน้องก็อต ว่าแต่โรคนี้คือโรคอะไร ร้ายแรงแค่ไหน และจะสามารถรักษาหายได้หรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ภาพจาก WOODYTALK
กอร์แฮม ดิซีส (Gorham's Disease) คืออะไร
โรคกอร์แฮม ดิซีส หรือที่ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Gorham-Stout Disease (GSD) เป็นภาวะที่กระดูกเกิดการละลายหรือเสื่อมสลายแบบเฉียบพลัน หรือโรคกระดูกทำลายตัวเอง เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ปี ค.ศ. 1838 ซึ่งโรคกอร์แฮม ดิซีสนี้เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกที่หายากมาก โดยทั่วโลกมีรายงานว่าพบผู้ป่วยเพียง 200 คนเท่านั้น ขณะที่ในประเทศไทย เคสของน้องก็อตน่าจะเป็นรายที่ 3
โรคนี้สามารถเกิดได้กับกระดูกทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กะโหลกศีรษะ กระดูกเชิงกราน กระดูกไหปลาร้า และขากรรไกร ลักษณะเด่นของโรคนี้ก็คือ นอกจากการสลายตัวของกระดูกแล้วก็ยังมีการเติบโตที่ผิดปกติของผนังท่อน้ำเหลืองร่วมด้วย ซึ่งภาวะกระดูกละลายยังส่งผลต่อกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscle) และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะภายในได้
กอร์แฮม ดิซีส สาเหตุเกิดจากอะไร ?
ในปัจจุบันนี้ แพทย์ทั่วโลกยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่มีการค้นพบว่าภาวะดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการเติบโตที่ผิดปกติของระบบน้ำเหลือง แต่ความผิดปกติของระบบน้ำเหลืองนั้นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูกแต่อย่างใด
ภาพจาก WOODYTALK
กอร์แฮม ดิซีส อาการเป็นอย่างไร ?
กอร์แฮม ดิซีส ไม่มีอาการจำเพาะ แต่มีอาการได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดอาการขึ้น โดยภาวะกระดูกละลายจะไม่แสดงให้เห็นถึงอาการในทันที แต่จะสำแดงอาการอย่างเฉียบพลันเมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อน แต่ถ้าหากอาการรุนแรงมากก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้อาการของโรคกอร์แฮมที่อาจเกิดขึ้นได้ก็ได้แก่
- บริเวณใบหน้า : หากเป็นที่บริเวณใบหน้าก็อาจจะพบว่ามีความผิดปกติของใบหน้า อาจรู้สึกปวดฟันหรือฟันหัก บางรายอาจมีอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง
- บริเวณกระดูกสันหลังและกะโหลกศีรษะ : อาจมีอาการผิดปกติของระบบประสาทแสดงออกมาให้เห็น หรือมีอาการปวดหลัง ปวดเอวเรื้อรัง บางรายอาจแสดงออกมาให้เห็นผ่านอาการอัมพาตอย่างเฉียบพลัน
- บริเวณทรวงอก หรือกระดูกทรวงอก : ภาวะกระดูกละลายที่บริเวณทรวงอก อาจนำไปสู่ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก หรือแน่นหน้าอก นอกจากนี้ยังอาจพบน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ หากเกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจและอาจถึงแก่ชีวิตได้
ภาพจาก radiopaedia.org
กอร์แฮม ดิซีส กลุ่มเสี่ยงคือใครบ้าง ?
ภาวะกระดูกละลายนี้มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ก็มักจะพบในกลุ่มเด็กและคนอายุต่ำกว่า 40 ปี และยังพบในเพศชายได้มากกว่าหญิง ทว่าด้วยเพราะเป็นโรคที่หาได้ยากมาก จึงทำให้ยังไม่สามารถระบุจำนวนของผู้ป่วยต่ออัตราประชากรที่แท้จริงได้
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกอร์แฮม ดิซีส
เนื่องจากเป็นโรคที่หาได้ยากมาก จึงยังไม่มีวิธีการตรวจหาภาวะกระดูกละลายได้ ดังนั้นในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จึงต้องทำการตรวจจากจุดที่เกิดโรคโดยตรงและวินิจฉัยร่วมกับประวัติการรักษาของผู้ป่วยด้วย
กอร์แฮม ดิซีส รักษาอย่างไร ?
อาการของกอร์แฮม ดิซีส ไม่มีอาการจำเพาะที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกละลายกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ด้วย ในการรักษานั้นจึงทำได้เพียงรักษาตามอาการ โดยอาจจะมีการผ่าตัด ฉายแสง การทำเคมีบำบัด หรือใช้หลาย ๆ วิธีควบคู่กันไป ซึ่งจากรายงานที่พบผู้ป่วยทั่วโลกมีผู้ป่วยบางรายรักษาได้หายขาด แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน
ได้รู้จักกับโรคกอร์แฮม ดิซีส กันไปอย่างคร่าว ๆ แล้วนะคะ แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ควรจะระมัดระวังและดูแลสุขภาพให้ดี อีกทั้งยังควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดความผิดปกติในร่างกาย เพราะยิ่งรู้ตัวเร็วก็ยิ่งรักษาได้เร็ว โอกาสหายจากโรคก็ย่อมสูงขึ้นด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
rarediseases.org
lgdalliance.org
radiopaedia.org