เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการศึกษาของสถาบันคินซีย์ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา และศูนย์วิจัยโรคมะเร็งเฟรด ฮัทชิสัน พบว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างย่า ยาย และหลานๆ มีผลดีมากกว่า

         ทั้งนี้ ช่วยให้คนสองวัยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตซึ่งกันและกัน หรือการสร้างสายสัมพันธ์รัก ความผูกพัน แต่อาจยังสามารถช่วยลดอาการข้างเคียง อาทิ อาการร้อนวูบวาบ อาการเหงื่อออกมากในตอนกลางคืนของหญิงวัยทองบางรายได้ด้วย

         ในผลการศึกษา ภายใต้การนำทีมของเวอร์จิเนีย เจ. วิซธัม อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา และนักวิจัยอาวุโสของสถาบันคินซีย์ ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในที่ราบตอนสูงของประเทศโบลิเวีย และจับตาศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงวัยกลางคนกับหลานๆ พบว่า สตรีซึ่งผ่านการผ่าตัดเอารังไข่ออก และก้าวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือ "วัยทอง" เร็วกว่าปกติ มีอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืน ลดน้อยลงเมื่อมีหลานๆ หรือเด็กๆ อยู่ด้วยในบ้าน

        "เรามีผลการสำรวจ ศึกษาที่ใช้เวลากว่า 20 ปี ซึ่งพบว่า ผู้หญิงในชนบทจะมีประสบการณ์กับภาวะวัยทองแตกต่างไปจากผู้หญิงในเมือง ทั้งนี้เพราะผู้หญิงเหล่านี้มักจะมีหลานๆ อยู่ในบ้านเดียวกัน และพวกเธอเหล่านี้จะมีอาการร้อนวูบวาบน้อยกว่าผู้หญิงในประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐ ที่ย่า ยาย ไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย"

        เวอร์จิเนียคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หญิงวัยกลางคนที่มีหลานๆ อยู่ด้วยมีอาการข้างเคียงของภาวะวัยทองน้อยลง น่าจะเป็นเพราะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) หรือฮอร์โมนแห่งความรัก มากขึ้น

        "เรารู้ดีว่า ฮอร์โมนออกซิโทซินมีบทบาทสำคัญ และจากผลการศึกษาก็แสดงให้เห็นว่า การได้คลุกคลีอยู่กับเด็กๆ สามารถช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกซิโทซินเพิ่มขึ้น โดยเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นหลานหรือญาติกันก็ได้ และเราก็คิดว่า ผู้หญิงที่ทำงานเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือในห้องเรียน หรือมีกิจกรรมอะไรได้กับเด็กๆ ก็อาจจะมีฮอร์โมนออกซิโทซินเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน"

        ขณะที่ภาวะวัยทองของผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนอาจมีอาการต่างๆ เพียงเล็กน้อย หรือบางคนอาจไม่มีอาการใดๆ เลย หรือบางคนอาจมีอาการข้างเคียงของวัยทองค่อนข้างรุนแรง เวอร์จิเนียจึงสรุปถึงผลการศึกษาของเธอว่า ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงบทบาทของฮอร์โมนออกซิโทซินต่อการช่วยลดอาการข้างเคียงของภาวะวัยทองต่อไปอีก แต่ตอนนี้สิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวก็คือ คุณค่าของการอยู่ร่วมกันและความรักความผูกพันระหว่างคนรุ่นต่างๆ ในครอบครัว

       "คนเราเป็นสัตว์สังคม เราต้องมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม และความสัมพันธ์ต่างๆ เหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญและเป็นที่มาของความสุข ความสนุก"

        อย่างไรก็ตาม สำหรับครอบครัวที่ย่า ยาย ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ก็น่าจะมีการนัดกินข้าว นัดเจอกันเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับเด็กๆ

 

        ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/