แมคคาเดเมีย (macadamia) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Protaceae  ชื่อวิทยาศาสตร์ Macadamia integrifolia  และแม้ว่าจะมีลักษณะเหมือนถั่ว แต่มันกลับไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว ไม่ได้อยู่ในวงศ์ Legume  อย่างไรก็ตาม จัดเป็นต้นไม้ประเภทนัท (nut) ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก

          แมคคาเดเมียมีถิ่นกำเนิดแถบประเทศออสเตรเลีย ไม้ชนิดนี้จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อปลูกบนพื้นที่ค่อนข้างสูง อุณหภูมิระหว่าง 9 ถึงสูงสุดไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส ต้องการน้ำและดินที่อุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ดูดซึมน้ำได้ดี มีสายพันธุ์ทั้งหมด 10 ชนิด แต่บริโภคได้ 2 ชนิดเท่านั้น

 

          ข้อมูลโภชนาการของแมคคาเดเมีย เมื่อเปรียบเทียบกับถั่วชนิดอื่นๆ เช่น อัลมอนด์ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมียมีจำนวนของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูงที่สุด ซึ่งมีประโยชน์มาก ทั้งยังไม่มีคอเลสเตอรอล สำหรับกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวเป็น ไขมันที่ดี 

         มีการวิจัยพบว่า สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด รวมทั้งการเสริมสร้างและปกป้องการเพิ่มขึ้นของปริมาณไลโปโปรตีน โดยระดับคอเลสเตอรอลและไลโปโปรตีน เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงของโรคหัวใจ นอกจากนี้ แมคคาเดเมียยังมีโปรตีน 9% คาร์โบไฮเดรต 9% และใยอาหาร 2% เช่นเดียวกับแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทส เซียม โซเดียม ซิลิเนียม เหล็ก วิตามินบี และไนอาซิน

          ดังกล่าวแล้ว เมล็ดแมคคาเดเมียมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มีประโยชน์ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ และการที่เมล็ดแมคคา เดเมียไม่มีคอเลสเตอรอล จึงนำเนื้อในของเมล็ดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น อาหารขบเคี้ยว น้ำมัน แป้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ร่างกายของคนเราสามารถสร้างคอเลสเตอรอลได้เอง ถ้ารับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ระดับคอเลสเตอรอลในกระแส เลือดก็จะสูงขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน และหัวใจวาย

          ยังมีงานวิจัยของ ดร.ขนิษฐา ธนานุวงศ์ และ น.ส.ศิวพร จิตต์งามกุศล จากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "แป้งแมคคาเดเมีย : ส่วนผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสำหรับขนมอบ" ว่าด้วยสมบัติเชิงหน้าที่ของแป้งแมคคาเดเมีย โดยชี้ให้เห็นว่า แป้งแมคคาเดเมียปราศจากไขมันหรือมีไขมันต่ำ เป็นผลพลอยได้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันแมคคาเดเมีย ในขณะที่เนื้อในของเมล็ดแมคคาเดเมียอุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว โปรตีนและใยอาหาร

 

          นอกจากนี้แป้งแมคคาเดเมียอาจช่วยปรับปรุงคุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์อาหารได้ เนื่องจากแป้งชนิดนี้มีสมบัติเชิงหน้าที่ที่โดดเด่น หากแป้งมีปริมาณไขมันต่ำลง ความสามารถในการอุ้มน้ำ น้ำมันและการเกิดโฟมของแป้งแมคคาเดเมียจะดีขึ้น

          ดังนั้นเมื่อพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการร่วมกับสมบัติเชิงหน้าที่แล้ว แป้งแมคคาเดเมียปราศจากไขมัน อาจนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ขนมอบเพื่อเสริมโปรตีนและใยอาหาร ช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัส กลิ่นและรสของผลิตภัณฑ์ได้ ผู้ผลิตหรือ ผู้ประกอบอาหารจึงสามารถใช้แป้งแมคคาเดเมียเป็นวัตถุดิบที่ เพิ่มคุณค่าทางอาหารที่ดีแก่ผู้บริโภค

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/