วิธีบริหารจัดการกับความเครียด เวลามีความเครียดเกิดขึ้น ขอให้มีสติอย่าตื่นตระหนก พยายามให้ตระหนักว่า ทุกปัญหามีทางออกมีทางแก้ไข อย่ากลัวปัญหา อย่าหนีปัญหา อย่าด่วนตัดสนใจ พยายามหาสาเหตุของปัญหา และค้นคิดวิธีการแก้ไข บางปัญหาเราไม่สามารถตัดสินใจได้

          เนื่องจากเราไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น หรือข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะต้องปรึกษาผู้ที่รู้ บางปัญหาเมื่อเราตัดสินใจไปแล้วจะมีการสูญเสียบ้างก็จะต้องทำใจยอมรับ บางปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียแล้วไม่มีโอกาสแก้ไขได้หรือไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม ก็ต้องทำใจยอมรับความจริง ให้ปัญหายุติลง ไม่นำมาคิดซ้ำซาก ต้องฝึกให้เป็นคนเข้มแข็ง เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ เมื่อมีความผิดหวังเกิดขึ้น ไม่ท้อแท้ ให้คิดกลับมาสู้ใหม่ บางครั้งขณะเครียดมากๆ ไม่ควรด่วนตัดสินใจ จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ให้เก็บปัญหาไว้ก่อนสักระยะเวลาหนึ่งไม่นานนัก ไปพักผ่อน

 

          ทำสิ่งที่เราชอบ ออกกำลังกาย เพื่อทำจิตใจให้สงบ เมื่อรู้สึกสบายใจขึ้น จึงกลับมาสู้ใหม่ การตัดสินใจที่ดี ต้องอยู่ในภาวะที่เรามีสติ มีข้อมูลพร้อม มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียและผลกระทบจากการตัดสินใจที่จะตามมา มีเหตุผลสามารถอธิบายได้ มีคุณธรรม มีความถูกต้อง และยุติธรรม

           ความเครียดถ้ามีมาก มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์และใช้ยาคลายความกังวลช่วย ภายใต้การดูแลของแพทย์

          1.8 ต้องมีเพื่อน การมีเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง มีความรักความผูกพันกัน มีการพบประสังสรรค์กันเป็นครั้งคราวอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกอบอุ่น ไม่เหงา เวลามีความทุกข์หรือมีปัญหาไม่สบายใจจะได้มีที่ปรึกษาหรือระบายความทุกข์ได้

          1.9 ต้องมีงานทำ  คนเราถึงแม้มีฐานะการเงินที่มั่นคงแล้วและมีศักยภาพที่จะทำงานได้ ก็ควรจะทำต่อไป แต่งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ทำแล้วสบายใจ มีความสุข ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ทำเพื่อแก้เหงา และให้มีความรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ถ้าหากไม่มีงานประจำ ควรจะมีงานอดิเรกทำหรือเล่นกีฬา เพื่อไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน การมีงานทำเป็นการฝึกใช้สมอง อาจจะทำให้สมองเสื่อมช้า

          1.10 สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ  ผู้สูงอายุไม่ควรอยู่คนเดียว ควรให้อยู่กับลูกหลาน เป็นครอบครัวใหญ่ ลูกหลานควรให้ความสนใจใกล้ชิด พูดคุย ให้กำลังใจ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันได้ยิ่งดี โดยไม่ต้องใช้เวลามากในแต่ละครั้ง ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่น ไม่โดดเดี่ยว ไม่ถูกทอดทิ้ง ไม่เหงา 

 

           ผู้สูงอายุเองจะต้องเป็นคนที่ไม่เรียกร้องมาก ไม่สร้างความเดือดร้อนกับผู้ดูแล ถ้าหากยังสามารถทำงานประจำที่เคยทำอยู่และทำแล้วมีความสุข ก็ควรจะทำต่อโดยไม่ต้องรับผิดชอบมากเหมือนก่อนเกษียณ ถ้าไม่มีงานประจำทำ ควรจะต้องมีงานอดิเรกทำ ถ้าหากยังสามารถทำสิ่งใดๆ ด้วยตนเองก็ให้ทำต่อ อย่าคิดพึ่งพาผู้อื่น การมีงานทำและเป็นงานที่ชอบ จะทำให้เกิดความสุข ความเพลิดเพลิน

           ผู้สูงอายุจะต้องรับสภาพความจริงว่าเมื่อสูงอายุแล้วจะเกิดความเสื่อมของร่างกาย ความเจ็บป่วยตามมา ความเหงา การจากไป ต้องอยู่คนเดียว ความตาย เป็นเรื่องปกติของทุกคนที่หนีไม่พ้น แต่ช่วงที่มีชีวิตอยู่ขอทำใจให้สุข เป็นกำไรชีวิต การคิดห่วงลูกหลาน กลัวลูกหลานลำบาก อยากให้ลูกหลานมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นเรื่องปกติที่มีทุกคนในผู้สูงอายุ และเป็นสิ่งที่ดี

           ความห่วงใย ควรเป็นลักษณะเป็นการให้กำลังใจ ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ในสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ รับฟัง หรือให้คำปรึกษา เพื่อให้เขาเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง ไม่ท้อแท้ เป็นคนสู้และเป็นคนดี อย่าเอาความห่วงใยลูกหลานไปเป็นทุกข์ ต้องยอมรับว่าเราคิดแล้วก็ไม่สามารถช่วยเขาได้ เพราะเกินวัยที่จะช่วยเขา การคิดที่นำปัญหามาเป็นทุกข์ จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายและใจ เป็นการสร้างปัญหาและภาระให้แก่ลูกหลาน

          2.การดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง

          การมีสุขภาพกายที่แข็งแรงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต คนที่เก่งมีความรู้ความสามารถ ถ้าหากมีสุขภาพกายที่ไม่ดี มีโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง สุขภาพจิตก็จะไม่ดีด้วย จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานถดถอย ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่ตนต้องการได้

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ข้อมูลจาก น.พ.ปรีชา ศตวรรษธำรง อดีตผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/