คุณผู้หญิงหลายคนคงรู้สึกกังวลกับปัญหาต่างๆ บนใบหน้ามากเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องสิว กระ รอยดำ รวม ถึงปัญหาฝ้าบนใบหน้า

          ฝ้า มีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาลดำที่มักเกิดบนใบหน้า บริเวณแก้ม หน้าผาก จมูก บริเวณเหนือริมฝีปาก และคาง บางครั้งอาจลามมาบริเวณคอและปลายแขนด้านนอกที่ถูกแสงแดด ปัญหาฝ้ามักพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบมากในหญิงสาววัยกลางคน

          สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้านั้น มาจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่สร้างเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนัง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มจำนวนแล้ว เซลล์เหล่านี้ ยังขยันทำงานสร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดปื้นน้ำตาล-ดำขึ้น

          นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการลุกลามของฝ้า ได้แก่

          1. แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเกิดฝ้า โดยแสงอัลตร้าไวโอเลต ชนิด เอ ชนิด บี และแสงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะสามารถกระตุ้นให้ฝ้าดำคล้ำขึ้นหรือกลับเป็นซ้ำได้บ่อยๆ

          2. ฮอร์โมน เช่น ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดจะมีโอกาสเกิดฝ้าได้มาก โดยผู้ที่เป็นฝ้า อาจสังเกตว่าหน้าคล้ำลงในระยะใกล้มีประจำเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนนั่นเอง

          3. สารเคมีบางอย่าง เช่น สี หรือน้ำหอมในเครื่องสำอาง

          4. ความเครียด รวมทั้งการอดนอน 

          วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นฝ้า

          ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดฝ้า เช่น เลี่ยงการรับประทานยาคุมกำเนิด และเครื่องสำอางที่สงสัย ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. และหากจำเป็น ต้องสัมผัสกับแดด ควรป้องกันผิวด้วยหมวกปีกกว้าง กางร่ม ร่วมกับการใช้ยากันแดดช่วย

          ในด้านการรักษาฝ้า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการรักษาฝ้าให้หายขาดเป็นเรื่องยากและเมื่อเป็นแล้วก็มักเป็นๆ หายๆ ยารักษาฝ้าเท่าที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันก็ยังไม่มีที่ได้ผล 100% หรือทำให้หายขาด และมักต้องใช้ยาหลายๆ ชนิดร่วมกัน

          ตัวยาที่ใช้รักษา

          1. ยาที่มีฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสีโดยไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี เช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ยาทา สเตียรอยด์ ซึ่งยาที่กล่าวมานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่อนุญาตให้ผสมและจำหน่ายอยู่ในเครื่องสำอางทั่วไป เพราะถือว่าเป็นยาที่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูง เช่น เกิดอาการระคายผิว หน้าแดง ไวต่อแสงแดด หน้าบาง สิวขึ้น ขนขึ้น หรือเส้นเลือดฝอยขึ้น จึงควรใช้ยาดังกล่าว ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผิวหนังเท่านั้น

          2. สารที่มีคุณสมบัติลดการสร้างเม็ดสีในหลอดทดลองที่มีฤทธิ์อ่อนกว่ายาในกลุ่มแรกแต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า ซึ่งผสมอยู่ในเครื่องสำอางต่างๆ เช่น สารกรดโคจิค ไลโคไรซ์ อาร์บูตินและวิตามินซี เป็นต้น

          3. สารอื่นๆ เช่น กรดอซีเลอิก กลุ่มกรดไฮตรอกซี่ ทั้งเอเอชเอและบีเอชเอ การทำทรีตเมนต์ใช้ร่วมในการรักษาฝ้าได้ แต่ต้องระวังเพราะมีความเป็นกรด จึงอาจระคายผิวและอาจทำให้แสบคันเมื่อใช้ความเข้มข้นสูงได้

          คำแนะนำและรักษา

          คำแนะนำในการรักษาฝ้า ไม่ควรซื้อยาฝ้าใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสูง หากใช้ไม่ระมัดระวัง และในระหว่างรักษาฝ้า ควรพบแพทย์เป็นระยะตามคำแนะนำเพื่อปรับยาให้เหมาะสม นอกจากนี้ ไม่ควรหยุดทายาฝ้าทันทีเมื่อฝ้าจางลง เพราะฝ้าอาจกลับคล้ำขึ้นอีกได้ ควรให้แพทย์แนะนำการปรับใช้ยาหรือลดยาให้เหมาะสม

          แนวทางการรักษาดีที่สุดคือ การมาพบแพทย์ผิวหนังและควรมาพบแพทย์ผิวหนังตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรักษาต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

          ไม่ผิดกับคำสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง" หากเกิดปัญหาขึ้นบนใบหน้า จะแต่ง จะกลบอย่างไรก็ไม่สวย ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาและมีอาการผิดสังเกตเกิดขึ้นบนใบหน้าต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้ไม่ลุกลาม และรักษาให้หาย โดยการควบคุมของแพทย์เฉพาะทางจะเป็นสิ่งที่ดีและเห็นผลมากที่สุด

 

 

          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ โดย รศ.พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/