
แม้ความเครียดจะเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงชีวิต เด็กก็เกิดความเครียดจากโรงเรียน หรือการพบเจอสังคมใหม่ๆ ผู้ใหญ่ก็เครียดจากการทำงาน แม้จะเกษียณอายุแล้วก็ยังพบว่า ผู้สูงอายุก็ยังเกิดความเครียดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบ อาทิ การสูญเสียคู่ชีวิต ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น หรือภาวะทางการเงิน
ลูกหลานในบ้านจึงควรใส่ใจและหมั่นสังเกตว่า ผู้สูงอายุในบ้านมีอาการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเกิดความเครียดหรือไม่ด้วยวิธีสังเกตง่ายๆ 5 ประการ ดังนี้
ข้อสังเกตประการแรกนิสัยในการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจจะรับประทานอาหารมากขึ้น หรือเบื่ออาหารเนื่องมาจากภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น
ข้อสังเกตที่ 2 อารมณ์แปรปรวนขึ้นลงเร็วผิดปกติจากอาการเครียด ซึ่งอาจแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิดเพิ่มมากขึ้น หรือมีภาวะซึมเศร้า
ข้อสังเกตที่ 3 หลงๆ ลืมๆ หรือเกิดปัญหาด้านความทรงจำ อาทิ ลืมชื่อคนสถานที่ หรือสิ่งต่างๆ ที่เคยพบเห็นเป็นประจำ รวมถึงขาดสมาธิได้ง่าย หรืออาจอาการหนักจนลามไปถึงการตัดสินใจ เช่น การใช้จ่ายเงินเกินจากงบประมาณที่กำหนดมาก เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจได้
ข้อสังเกตที่ 4 อาการเครียดแสดงออกด้วยปัญหาสุขภาพตัว อย่างเช่น การปวดเมื่อยร่างกาย อาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาในการนอนด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดอาการเครียดอย่างหนักแล้ว
ข้อสังเกตสุดท้าย การแยกตัวและปฏิเสธการเข้าสังคม หรือแม้กระทั่งไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชื่นชอบมาก่อน
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
http://www.thaihealth.or.th/