สมุนไพรที่น่าสนใจ ก็คือ กระแจะตะนาว สมุนไพรมีเรื่องราวและประวัติการใช้มาอย่างยาวนาน

ผ่านไปแล้ว สำหรับงานมหกรรมการแพทย์แผนไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก 2557 "สุขภาพดี เริ่มต้นด้วยการแพทย์แผนไทย" เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ปทุมธานี งานนี้  หนึ่งในสมุนไพรที่น่าสนใจ ก็คือ กระแจะตะนาว สมุนไพรมีเรื่องราวและประวัติการใช้มาอย่างยาวนาน

          กระแจะ หรือ พญายา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson อยู่ในวงศ์ RUTACEAE และมีชื่ออื่นๆ คือ กะแจะตะนาว ขะแจะ ตุมตัง พญา มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก กิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับรูปวงรีแกมไข่กลับ ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกช่อออกที่ซอกใบ ผลรูปทรงกลมออกเป็นพวง พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ

          พญายา เป็นสมุนไพรที่หมอยาอีสานใช้มากตัวหนึ่ง ในตำรายาอีสานจึงมีชื่อของพญายาปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในตำราใบลานอีสาน พญายาขึ้นอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ถือว่าเป็นสมุนไพรเก่าแก่ ในภาคอื่นๆ มักรู้จักกันดีในชื่อ กระแจะ หรือกระแจะตะนาว เนื่องจากบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแหล่งของสมุนไพรชนิดนี้ ชาวตะนาวจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยาหอมและมีชื่อเสียงมาแต่อดีต  นอกจากนี้ กระแจะตะนาว ยังเป็นส่วนผสมสำคัญของดินสอผงวิเศษ ซึ่งจะนำไปเขียนอักขระในการสร้างพระเนื้อผงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผู้ที่ได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้สร้าง "สูตรนิยม" หรือ "สูตรครู" ในการสร้างพระเนื้อผง และในมวลสารของพระเครื่องที่สมเด็จโตสร้าง ดินสอผงวิเศษนั้นจะมีกระแจะตะนาวอยู่ด้วย

          ในอดีต คนไทยแถบสุโขทัยเรียกกระแจะว่า ตุมตัง ซึ่งจะถูกนำมาบดรวมกับเครื่องหอมจนได้เป็น "กระแจะจันทน์" เครื่องหอมประทินผิวที่มักวางอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้งของสาวไทยในอดีต ทุกส่วนของกระแจะมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณแก้ฝ้า แก้สิว รักษาผิวพรรณ ทำให้ผิวขาวสดใสสวยงาม โดยจะนำเปลือก เนื้อไม้ หรือราก ฝนกับน้ำหรือบดผสมกับเครื่องหอมอื่นๆ เป็นแป้งผัดหน้า ทำให้หน้าผุดผ่องเป็นยองใย ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยโดยแกะรอยจากภูมิปัญญาชาวบ้านพบว่า กระแจะ มีฤทธิ์ในการป้องกันแสง UV สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กันแดดได้ และด้วยความหอมของกระแจะ ทำให้คนไทยในแถบอีสานใต้ใช้ทำเป็นธูป โดยใช้กิ่งอ่อนบดละเอียดผสมทำธูป

          กระแจะ เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาสูงมาก สามารถรักษาโรคและอาการได้หลากหลาย และเป็นส่วนผสมใส่ในยาตำรับได้มากมาย ในตำรายาไทยระบุสรรพคุณของกระแจะไว้ว่า เปลือกและเนื้อไม้ มีสรรพคุณลดไข้ ดับพิษร้อน เจริญอาหาร บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่นแจ่มใส รักษาโรคโลหิตผอมแห้ง และโรคกษัย รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยขับเหงื่อ รักษาอาการปวดเกร็งในท้อง ใบมีสรรพคุณแก้ลมชัก แก้ไข้ แก้ปวดข้อและกระดูก คุมกำเนิด ผลใช้รักษาพิษ เป็นยาบำรุง รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากอาหารไม่ย่อย ดังนั้น ในยาหอมไทยจึงมักใส่กระแจะตะนาวลงไปด้วยเสมอ เช่น ยาหอมจิตรารมย์ ยาหอมสุคนโอสถ ยาหอมเทพประสิทธิ์ ยาแดงเม็ดเล็ก เป็นต้น

          นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านยังใช้ใบสดตำให้แหลกแช่เหล้าพอท่วม เอาน้ำยาทาแก้ปวดฟัน ทากันยุง และยังใช้ใบผสมใส่ในลูกประคบ เข้าตำรับยาแก้ไอ แก้พยาธิตัวจิ๊ด เป็นต้น

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต