พาร์สลีย์ (Parsley) ผักใบเล็ก สีเขียวขอบหยักคล้ายผักชีใบเล็ก ต้นใบแข็งและเหนียว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว บ่อยครั้งถูกใช้เพียงเพื่อตกแต่งอาหารเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วคุณประโยชน์ของ พาร์สลีย์ไม่ใช่แค่ตกแต่งอาหารเพียงอย่างเดียว
อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหาร
พาร์สลีย์หนึ่งถ้วยมีบีตาแคโรทีน (วิตามินเอ) มากกว่าแครอทหัวใหญ่หนึ่งหัว มีวิตามินซีมากกว่าส้มลูกหนึ่งเกือบสองเท่าและมีแคลเซียมมากกว่านมหนึ่งแก้ว ธาตุเหล็กมากกว่าตับที่มีน้ำหนักเท่ากัน และเป็นผักที่มีวิตามินบี 1 บี 2 และบี 6 สูง วิตามินอีเท่ากับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน 1 ช้อนโต๊ะ โปรตีน มากกว่าเต้าหู้ขาว 1 ชิ้น มีเส้นใยมากกว่าข้าวโพด 1 ฝักถึง 15 เท่า ในขณะที่การกินพาสลีย์สดๆ 10 ก้านให้พลังงานเพียงแค่ 4 แคลลอรี่ เท่านั้น
ผิวสวยไร้สิว
เพียงแค่นำใบพาร์สลีย์ มาสับให้ละเอียด จากนั้นเกลี่ยลงไปในถาดน้ำแข็งใส่น้ำให้เต็มรอให้เย็นเป็นก้อน ห่อด้วยผ้าบางๆ แล้วจับมาประคบเจ้าสิวที่อักเสบ บวม แดง ประมาณ 20 วินาที ทุกเช้าเย็น เจ้าผักใบจิ๋วนี้สามารถช่วยลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว สรรพคุณอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเอาใบแช่น้ำไว้ข้ามคืนจะได้น้ำยาโลชั่นที่ใช้ทำความสะอาด ผิวเป็นอย่างดี
มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ
พาร์สลีย์ประกอบด้วยฟลาโวนอยด์หลายชนิด รวมทั้งอาพิเจนิน ลูทีโอลิน ไครโซเออรอล เคมฟีรอล เควอซิติน ไอโซแรห์มเนติน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระของส่วน ที่เป็นพลาสมาในเลือด มีการทำงานของเอนไซม์ที่ต้านอนุมูลอิสระ (กลูตาไทโอน รีดัคทาสและซูเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส) เพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะพาร์สลีย์มีผลการปกป้องต่อการ ทำลายของกระบวนการออกซิเดชั่น
ลมหายใจหอมสดชื่น
สารคลอโรฟิล (Chlorophyll) ซึ่งเป็นสารสีเขียวในใบพาร์สลีย์ มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นไม่พึงประสงค์ การเคี้ยวใบพาร์สลีย์หลังมื้ออาหารจึงช่วยลดปัญหากลิ่นปากกวนใจได้ นอกจากนี้พาร์สลีย์ยังมีสารขับปัสสาวะ กระตุ้นการทำงานของไต มีธาตุเหล็กป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารและแก๊สในทางเดินอาหารเป็นไปด้วยดี ทำให้ไม่เกิดอาการอึดอัดลดอาการปวดเสียด แก้โรคหอบหืด ลดอาการไอ ในสมัยก่อนใช้เป็นยาบรรเทาปวด ประจำเดือนของสตรี ใบสดเมื่อเอามาบดจะใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และแมลงกัดต่อยได้ อาการนมคัดของสตรีมีครรภ์ก็ใช้รักษาได้ดีอีกด้วย เห็นประโยชน์มากมายเหล่านี้ของพารร์สลีย์แล้ว ต่อไปหลายคนหันมาเคี้ยวใบพาร์สลีย์ แทนที่จะเขี่ยทิ้งไว้ข้างจานกันเลยทีเดียว
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า โดย ศรัญญา เหล่าวิทยางค์กูร ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
http://www.thaihealth.or.th/